แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยข้อ 8 ที่ระบุว่า ‘ผู้รับจ้างยินยอมรับผิดชอบค่าปรับอันเนื่องจากเหตุแห่งความล่าช้าจากกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 3(168วัน) โดยคิดตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าไปจากที่กำหนดกับอัตราค่าปรับที่โรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย คิดปรับจากผู้ว่าจ้าง’นั้นหมายความว่าโจทก์ยินยอมรับผิดชอบค่าปรับตามอัตราค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลยตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 3 มิใช่โจทก์ยินยอมเสียค่าปรับตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าจำนวนหนึ่งกับค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลยอีกจำนวนหนึ่ง
ค่าปรับก็คือค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดจำนวนกันไว้ ล่วงหน้า เมื่อกำหนดค่าปรับกันแล้วก็ไม่สมควรที่จะให้ได้รับค่าเสียหายจากกันอีก ในกรณีค่าปรับกับค่าเสียหายใกล้เคียงกันศาลกำหนดให้จำเลยได้รับค่าเสียหายเท่ากับค่าปรับ ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ทำเสาเข็มเจาะ ณ หน่วยก่อสร้างโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย คิดเป็นเงิน 12,778,000 บาท เพื่อจำเลยจะได้ทำการก่อสร้างตัวอาคารตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและต่อเติมอาคารในบริเวณโรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับจำเลยโจทก์ได้ส่งมอบผลงานให้จำเลยได้รับไปทั้งหมดแล้ว แต่จำเลยชำระเงินให้ไม่ครบทั้ง ๆ ที่จำเลยได้นำผลงานของโจทก์เสนอต่อโรงพิมพ์ธนบัตร เมื่อขอเบิกเงินและได้รับเงินมาแล้ว จำเลยคงค้างชำระรวม 6,031,844 บาท 75 สตางค์ นอกจากนั้นจำเลยยังได้จ้างโจทก์ทำเสาเข็มตอกเพิ่มนอกเหนือสัญญาอีก โจทก์ทำให้และส่งมอบให้จำเลยแล้วเป็นเงิน 41,920 บาท จำเลยก็ยังไม่ชำระ จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์รวม 6,073,764 บาท 75 สตางค์ เมื่อคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคม 2523 ถึงวันฟ้อง 324 วัน เป็นดอกเบี้ย404,362 บาท 96 สตางค์ รวมกับต้นเงินแล้วจำเลยค้างชำระ 6,478,127 บาท 71 สตางค์ ขอให้จำเลยชำระเงิน 6,478,127 บาท 71 สตางค์ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 6,073,764 บาท 75 สตางค์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและต่อเติมอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในราคา 72,744,000 บาทโจทก์ได้ทำสัญญารับจ้างเหมาทำเสาเข็มเจาะให้จำเลยโดยโจทก์ยินยอมที่จะผูกพันตามเงื่อนไขแห่งสัญญาจ้างที่จำเลยได้ทำไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์มีหน้าที่จะต้องทำเสาเข็มเจาะให้เสร็จภายใน 168 วัน หากไม่เสร็จโจทก์ยอมให้จำเลยปรับได้ โดยคิดตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าไปจากกำหนดกับอัตราค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลย โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยช้ากว่ากำหนด 174 วัน จำเลยจึงกันเงินค่าทำเสาเข็มเจาะและค่าทำเสาเข็มตอกเพิ่มมาชำระค่าปรับและค่าเสียหายตามเงื่อนไขแห่งสัญญา นอกจากนี้โจทก์ยังทำให้จำเลยเสียหายอีกมาก แต่โจทก์ขอคิดเพียง 14,831,164 บาท 59 สตางค์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 14,831,164 บาท 59 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและต่อเติมอาคารในบริเวณโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยโจทก์ไม่ได้ร่วมลงนามเป็นคู่สัญญาจึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลย และตามเงื่อนไขแห่งสัญญาดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุว่า โจทก์จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลย ในการส่งมอบงานของโจทก์นั้น จำเลยได้รับมอบงานโดยมิได้อิดเอื้อนโต้แย้งในเรื่องความล่าช้า จำเลยจะยกขึ้นมาว่ากล่าวอีกไม่ได้ จำเลยไม่อาจเรียกค่าเสียหายใด ๆจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,210,438 บาท 45 สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่เดือนมกราคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้ง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงิน 4,495,171 บาท 30 สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ ค่าขึ้นศาลใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ในปัญหาว่าโจทก์ทำงานเสร็จช้าไปกว่ากำหนดตามสัญญาจ้างเหมาระหว่างโจทก์จำเลยกี่วัน ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท้จจริงว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องเริ่มทำงานให้จำเลยตามสัญญา วันที่ 13 พฤศจิกายน 2521 หาใช่วันที่โจทก์จำเลยทำสัญญากันคือวันที่ 25 สิงหาคม 2521 ไม่ เมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่าโจทก์ทำงานเสร็จวันที่ 30 กรกฎาคม 2522 จึงช้ากว่ากำหนดตามสัญญา 91 วัน แต่ตามสัญญาโจทก์มีสิทธิหักวันที่โจทก์ไม่สามารถที่จะทำงานเพราะมีอุปสรรคตามสัญญาออกได้ที่ศาลล่างทั้งสองหักวันที่เป็นอุปสรรคในการทำงานให้โจทก์ เนื่องมาจากคนทำงานต้องพบอุปสรรคใต้ดิน ฝนตกน้ำท่วมและขาดแคลนปูนซีเมนต์รวม 11 วัน โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งในปัญหานี้ จึงถือว่า โจทก์ทำงานล่าช้าไปกว่าที่ทำสัญญาไว้กับจำเลยเพียง 80 วัน
ในปัญหาที่ว่าโจทก์หรือจำเลยจะต้องเป็นผู้ชดใช้เงินให้แก่อีกฝ่ายหรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อฟังว่าโจทก์ทำงานเสร็จช้ากว่ากำหนดตามสัญญาเป็นฝ่ายผิดสัญญา งานที่โจทก์รับทำเป็นงานฐานรากของอาคารที่จำเลยรับจ้างทำจากธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยย่อมเริ่มทำงานต่อไปตามกำหนดเวลาไม่ได้ซึ่งปรากฏว่าจำเลยก่อสร้างอาคารไม่เสร็จตามกำหนดเวลาที่สัญญาไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกันเป็นเหตุให้จำเลยถูกปรับตามสัญญา จำเลยย่อมได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์ทำงานล่าช้าอย่างแน่นอน แต่จะเสียหายเพียงใดนั้น ตามสัญญาจ้างเหมาทำเสาเข็มเจาะระหว่างโจทก์จำเลยข้อ 8 ที่ระบุว่า”ผู้รับจ้างยินยอมรับผิดชอบค่าปรับอันเนื่องจากเหตุแห่งความล่าช้าจากกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 3 (168 วัน) โดยคิดตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าไปจากที่กำหนดกับอัตราค่าปรับที่โรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากผู้ว่าจ้าง” นั้น ย่อมหมายความว่า โจทก์ยินยอมรับผิดชอบค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลย ตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 3 หาใช่โจทก์ยินยอมเสียค่าปรับตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าจำนวนหนึ่งกับค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลยอีกจำนวนหนึ่ง รวมเป็น 2 จำนวนดังที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะตามข้อสัญญาดังกล่าวมีคำว่า “กับอัตราค่าปรับ” อยู่ในระหว่างข้อความต่าง ๆ ดังกล่าวทำให้เห็นว่าค่าปรับให้คิดตามอัตราค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลยการที่สัญญาใช้คำว่า “กับ” อันทำให้เข้าใจไปว่า ค่าปรับมี 2 จำนวน น่าจะไม่ใช่เป็นความประสงค์แต่แรกขณะทำสัญญาระหว่างโจทก์จำเลย คงเป็นเรื่องใช้คำผิดและถ้าจะให้ความหมายของข้อความที่ต่อจากคำว่ากับมีความหมายว่าเป็นค่าปรับอีกจำนวนหนึ่งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “อัตรา” อยู่หน้าค่าปรับ ควรใช้คำว่า “กับ”ค่าปรับที่โรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากผู้ว่าจ้าง” ก็ได้ความชัดเจนอยู่แล้ว เนื่องจากการคิดอัตราค่าปรับระหว่างจำเลยกับธนาคารแห่งประเทศไทยกรณีผิดสัญญาเป็นที่ทราบกันอยู่ระหว่างจำเลยกับธนาคารฯ ไม่จำต้องระบุคำว่า”อัตรา” ซ้ำอีก ที่ระบุเช่นนั้นเป็นการเท้าความให้โจทก์ทราบว่าการคิดค่าปรับให้คิดตามหลักเกณฑ์อันเดียวกับที่ธนาคารฯ คิดกับจำเลย ดังนั้นค่าปรับตามสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงคิดได้เพียงจำนวนเดียว โดยอาศัยหลักเกณฑ์การคิดค่าปรับที่ธนาคารฯ คิดเอากับจำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา
ในปัญหาจำนวนค่าเสียหายของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าเสียหายต่าง ๆตามที่จำเลยนำสืบมารวมกันแล้วคิดเป็นเงินราว 430,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนใกล้เคียงจำนวนค่าปรับที่โจทก์จะต้องชดใช้ให้แก่จำเลย ดังนั้น เมื่อค่าปรับก็คือค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดจำนวนกันไว้ล่วงหน้า เมื่อกำหนดค่าปรับกันแล้วก็ไม่สมควรที่จะให้ได้รับค่าเสียหายจากกันอีก และกรณีนี้ค่าปรับกับค่าเสียหายใกล้เคียงกันดังกล่าวแล้ว จึงกำหนดให้จำเลยได้รับค่าเสียหายเท่ากับค่าปรับเป็นเงิน 421,406 บาท 55 สตางค์ เมื่อจำเลยรับอยู่ว่าได้ยึดถือเงินค่าจ้างทำเสาเข็มเจาะ 6,031,844 บาท 75 สตางค์กับค่าทำเสาเข็มตอกเพิ่มขึ้นอีก41,920 บาท ของโจทก์ไว้ เงินสองจำนวนนี้จำเลยจึงต้องคืนให้โจทก์ แต่เมื่อหักกลบลบหนี้กันกับจำนวนที่โจทก์จะต้องชดใช้แก่จำเลยแล้วคงเหลือเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ 5,652,358 บาท 20 สตางค์ สำหรับดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น นายวัชระ จิรังบุญกุล พยานจำเลยเบิกความรับว่าโจทก์เคยทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างทำเสาเข็มเจาะตามเอกสารหมาย ล.33ถึง ล.35 ซึ่งตามเอกสารหมาย ล.35 เป็นการทวงถามเฉพาะค่าจ้างทำเสาเข็มเจาะเมื่อเดือนธันวาคม 2522 และให้ชำระค่าจ้างในเดือนมกราคม 2523 จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าดอกเบี้ยในต้นเงินค่าจ้างทำเสาเข็มเจาะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2523 จำนวนหนึ่ง และดอกเบี้ยในต้นเงินค่าจ้างทำเสาเข็มเพิ่มเติมตั้งแต่วันฟ้องอีกจำนวนหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 5,652,358 บาท 20 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 5,610,438 บาท 20 สตางค์นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2523 และของต้นเงิน 41,920 บาท นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 20 พฤศจิกายน 2523 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลคิดเพียงเท่าที่โจทก์ชนะโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์