แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65มีเพียงโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และปรับอีกวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน จึงมิใช่โทษปรับเกินกว่า 6 หมื่นบาทตามความหมายในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 22(5)ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษา จำเลยฎีกาว่าศาลลงโทษปรับจำเลยหนักเกินควร เป็นการ โต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษ และเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 โทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 65 วรรคสองที่ให้ปรับอีกวันละ 500 บาทนั้น เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับวันละ250 บาท แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับวันละ 500 บาท แม้จำเลย มิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกา มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22, 40, 42, 65 จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ความผิดตามฟ้องข้อ (ก) ปรับ 1,500 บาท ข้อ (ข) ปรับ 1,500 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2528 ไปจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาว่า ศาลแขวงชลบุรีไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้เพราะโทษปรับเกินกว่า 60,000 บาทศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 และมาตรา 22(5) ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ปีเพียงโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทและปรับอีกวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน จึงมิใช่โทษปรับเกินกว่าหกหมื่นบาทตามความหมายในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 22(5) ศาลแขวงชลบุรีจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า ศาลลงโทษปรับจำเลยหนักเกินควรเป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษและเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยวันละห้าร้อยบาทนั้นยังไม่ถูกต้องเพราะโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง ที่ให้ปรับอีกวันละห้าร้อยบาทนั้น เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับวันละสองร้อยห้าสิบบาท แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยอีกวันละสองร้อยห้าสิบบาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์