คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17598/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้บริษัท พ. ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ของบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทลูกก็ตาม แต่ก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากกัน การที่โจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการของบริษัท พ. อยู่แล้วได้รับมอบหมายจากบริษัท พ. ให้ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ด้วย การที่โจทก์ไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ย่อมมีอำนาจในการบริหารวางแผนและมีอำนาจสูงสุด จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มิได้แต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้ที่ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แม้ค่าตอบแทนในการบริหารงานที่โจทก์ได้รับจากการบริหารงานในบริษัทต่าง ๆ หลายบริษัทซึ่งรวมทั้งเงินที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 อยู่ด้วย ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงบริษัทกลุ่ม พ. กำหนดไว้ว่าจะได้รับจากบริษัทใดจำนวนเท่าใด ไม่ทำให้เข้าใจไปได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กำหนดค่าตอบแทนให้แก่โจทก์จำนวนเท่าใดได้เอง ส่วนการหักภาษีเงินได้และเงินกองทุนประกันสังคมในแต่ละบริษัทเห็นได้ว่าเป็นการคำนวณจากค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากการที่ผู้บริหารระดับสูงบริษัทกลุ่ม พ. กำหนดให้กระจายความรับผิดชอบไปให้แต่ละบริษัทที่โจทก์เข้าไปบริหารงานนั่นเอง เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ที่ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แต่กลับเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้บริหารงานและมีอำนาจสูงสุดในการบริหารบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เช่นนี้ โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 2 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกจำเลยทั้งสองในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งสองในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ตามลำดับ
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 53,333.33 บาท เงินโบนัสเป็นเงิน 1,092,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 6,240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 8,000 บาท และค่าชดเชยเป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดและให้จ่ายเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ของค่าชดเชยที่ค้างจ่ายทุก 7 วันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เป็นเงิน 55,495.08 บาท แก่โจทก์
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 3 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 53,333.33 บาท เงินโบนัสเป็นเงิน 1,092,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 6,240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 8,000 บาท และค่าชดเชยเป็นเงิน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด และให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของค่าชดเชยที่ค้างจ่ายทุกระยะ 7 วัน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เป็นเงิน 32,400 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาคู่ความแถลงร่วมกันว่า คู่ความตกลงท้ากันประเด็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 หรือไม่ และได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้
1. โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 หรือไม่ หากฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 จะชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมเป็นเงิน 720,000 บาท แก่โจทก์ หากฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
2. โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือไม่ หากศาลพิจารณาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายส่วนนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ไม่สืบพยาน ให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้
3. เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากฟังได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 โจทก์จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ตามที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายให้ตามจริง หากฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 โจทก์จะไม่ได้รับเงินส่วนนี้
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำงานในบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ต่อมาโจทก์ได้เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ได้รับเงินเดือน เดือนละ 40,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้เข้าทำงานกับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ได้รับเงินเดือน เดือนละ 40,000 บาท จนกระทั่งในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้เลิกจ้างโจทก์ แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสามต่อไปว่า บริษัทกลุ่มแพนมีประมาณ 60 บริษัท มีการแบ่งโซนโดยพลเอกเชิญชัย รับผิดชอบโซนศรีราชา กบินทร์บุรี ระยอง มีบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแม่และถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ในจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 โดยบริษัทต่าง ๆ ในเครือจะแบ่งหน้าที่กันผลิตสินค้าอุปกรณ์รองเท้าและส่งให้บริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิต โจทก์ดำรงตำแหน่งกรรมการ (ที่ถูกน่าจะเป็นกรรมการรองผู้จัดการ) ผู้จัดการบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ด้วย นอกจากนี้พลเอกเชิญชัยยังได้มอบหมายให้โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 อีกทั้งยังมอบหมายให้ปฏิบัติงานในกลุ่มบริษัทแพนอีกหลายบริษัท รวมเงินเดือนที่โจทก์ได้รับทั้งสิ้น 214,900 บาท และการปฏิบัติงานต่าง ๆ โจทก์ไม่จำต้องเข้าปฏิบัติงานเต็มเวลา โดยปกติจะสั่งงานทางโทรศัพท์และเข้าประชุมพนักงานและจะเข้าบริษัทต่าง ๆ สัปดาห์ละ 1 วัน การที่โจทก์ดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) และยังได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และกรรมการบริหารบริษัทในเครืออีกหลายบริษัททำให้เห็นว่าการทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 โจทก์มีอำนาจในการบริหาร วางแผน ไม่ต้องทำงานตามเวลา โจทก์จึงไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 จึงถือว่าเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 แม้โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนแต่อัตราเงินเดือนของโจทก์น้อยกว่ากรรมการรองผู้จัดการ แต่เมื่อรวมเงินเดือนแต่ละบริษัทรวมกันกลับมีเงินเดือนถึง 214,900 บาท และหากเสร็จภารกิจในบริษัทในเครือแพน พลเอกเชิญชัยก็เรียกตัวโจทก์กลับบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มได้ การทำงานของโจทก์จึงขึ้นอยู่กับผลงานและมติของคณะกรรมการบริหารบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ส่วนการหักเงินสมทบประกันสังคมเพื่อส่งเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายนั้นเป็นเพียงการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อนำมาคำนวณรายได้ หากหักไว้เกินตามกฎหมายกำหนดก็มีสิทธิขอคืนจากกรมสรรพากรหรือสำนักงานประกันสังคมแล้วแต่กรณี ลำพังการหักเงินเดือนดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย แม้โจทก์จะอ้างว่าตนมิได้เป็นผู้ก่อตั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่คือบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นกรรมการผู้จัดการและกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แล้วในการบริหารจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 โจทก์มีอำนาจสูงสุด มีอิสระ ถือว่าโจทก์เป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสามท้ากันในประเด็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 หรือไม่ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 จึงถือว่าตรงตามคำท้ากัน โจทก์จึงต้องแพ้ตามคำท้า ไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้ออื่น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า แม้บริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะเป็นผู้ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ของบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทลูกก็ตาม แต่ก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากกัน การที่โจทก์ได้รับมอบหมายจากพลเอกเชิญชัย ผู้รับผิดชอบโซนศรีราชา กบินทร์บุรี ระยอง อันมีบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ให้ไปเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ด้วย โจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) อยู่แล้วก็ต้องไปปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ตามที่ได้รับมอบหมายจากพลเอกเชิญชัย การที่โจทก์ไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โจทก์ย่อมมีอำนาจในการบริหารวางแผนและมีอำนาจสูงสุด จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มิได้แต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้ที่ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 และแม้ค่าตอบแทนในการบริหารงานที่โจทก์ได้รับจากการบริหารงานในบริษัทต่าง ๆ หลายบริษัทซึ่งรวมทั้งเงินที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 อยู่ด้วยก็เป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงกลุ่มแพนกำหนดไว้ว่าจะได้รับจากบริษัทใดจำนวนเท่าใด ไม่ทำให้เข้าใจไปได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กำหนดค่าตอบแทนให้แก่โจทก์จำนวนเท่าใดได้เอง ส่วนการหักภาษีเงินได้และเงินกองทุนประกันสังคมในแต่ละบริษัทเห็นได้ว่า เป็นการคำนวณจากค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากการที่ผู้บริหารระดับสูงกลุ่มแพนกำหนดให้กระจายความรับผิดชอบไปให้แต่ละบริษัทที่โจทก์เข้าไปบริหารงานนั่นเอง เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ที่ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แต่กลับเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้บริหารงานและมีอำนาจสูงสุดในการบริหารบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เช่นนี้ โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยให้โจทก์แพ้ตามคำท้าและพิพากษายกฟ้อง โดยไม่วินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินสมทบในส่วนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 โดยอ้างว่าเป็นกองทุนคนละกองกับในส่วนของบริษัทแพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) นั้น เมื่อโจทก์แพ้ตามคำท้า โจทก์จึงไม่ได้รับเงินส่วนนี้ตามคำท้า ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นให้นอกเหนือคำท้าได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share