แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้ต่อเติมอาคารพิพาทจากหลังคามุงกระเบื้องเป็นดาดฟ้าคอนกรีตทำเป็นชั้นที่ 4 และต่อเติมจากชั้นดาดฟ้าโดยทำหลังคาเป็นชั้นที่ 5 ถือเป็นการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ มิใช่เป็นการซ่อมแซมเพื่อความเป็นระเบียบสวยงามจำเลยจึงต้องรื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมออกไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและมีคำสั่งให้เจ้าของอาคารระงับหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือรื้อถอนอาคารซึ่งก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือผิดไปจากแผนผังแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและได้มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารตึกแถวเลขที่ 5 ซึ่งอาคารดังกล่าวก่อสร้างขึ้นก่อนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ มีแนวอาคารและระยะปลูกสร้างชิดแนวเขตที่สาธารณะโดยไม่มีระยะร่นแนวเขตขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 72 จึงห้ามต่อเติมหรือขยาย เว้นแต่ซ่อมแซมหรือดัดแปลงเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม ตามข้อ 83จำเลยได้รื้อถอนหลังคากระเบื้องออกแล้วดัดแปลงทำเป็นหลังคาดาดฟ้าและต่อเติมอาคารปกคลุมชั้นดาดฟ้าทำให้เป็นชั้นที่ 5 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30(1) และข้อ 30(2) ตามลำดับ และมิใช่เป็นการดัดแปลงเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามตามข้อ 83 ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติม หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่นิติบุคคลหรือบุคคลตามกฎหมาย โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน ลายมือชื่อตามคำสั่งกรุงเทพมหานครมิใช่คำสั่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน จำเลยมิได้เป็นผู้ดัดแปลงอาคารพิพาทตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารพาณิชย์เฉพาะส่วนที่ก่อสร้างเพิ่มเติมและดัดแปลงชั้นที่ 4 ทำเป็นชั้นที่ 5ออกทั้งหมด หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนอาคาร ให้โจทก์รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในประเด็นแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้ออุทธรณ์ของจำเลยมิใช่เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเหตุเดียวกันและเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จำเลยไม่เห็นด้วย เพราะข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 72 บัญญัติว่าอาคารที่ปลูกสร้างริมทางสาธารณะ ให้ร่นแนวอาคารไว้หลายกรณี ตึกแถวอาคารเลขที่ 5ของจำเลยมีแนวอาคารและระยะขัดกับข้อบัญญัติข้อ 72 ดังกล่าวในลักษณะอย่างไรบ้าง ฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าอาคารของจำเลยต้องมีระยะร่นจากแนวเขตสาธารณะ และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบถึงเหตุผลดังกล่าวไว้ เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คดีของจำเลยมีสาระอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยนั้น เห็นว่า ที่จำเลยฎีกาอ้างถึงเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น จำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยในเรื่องอำนาจฟ้องไว้ในเหตุเดียวกัน โดยจำเลยได้ยกเหตุอื่นขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 แม้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้ ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่วินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้จำเลยชอบแล้ว
ที่จำเลยฎีกาประเด็นข้อสองว่า จำเลยเป็นผู้ดัดแปลงอาคารพิพาทตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาท หาใช่เป็นเพียงการซ่อมแซมหรือดัดแปลงเพื่อความสวยงามไม่ การก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาทนั้นไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ จึงต้องรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมนั้น จำเลยไม่เห็นด้วยเพราะจำเลยซื้ออาคารพิพาทมาเมื่อ พ.ศ. 2524 และซื้อเป็นตึกแถว 4 ชั้น ปลูกสร้างมา 10 ปีแล้ว ชั้นที่ 4 พื้นเป็นซีเมนต์กว้าง 3.5 เมตร ยาว4 เมตร เมื่อฝนตกน้ำซึมรั่ว เมื่อเดือนเมษายน 2530 จำเลยว่าจ้างนายฮั้วทำการซ่อมแซมโดยปูพื้นกระเบื้องคัมพานาที่ชั้น 4และทำหลังคายาว 2 ใน 3 ของอาคารเป็นชั้นที่ 5 และก่อกำแพงด้านขวาสูงขึ้นอีก 1 เมตร จึงมิได้เป็นการก่อสร้างเพิ่มเติมดัดแปลงขึ้นใหม่ เป็นการทำเพื่อความสวยงาม ไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักแก่อาคารโครงสร้างเดิม เกินกว่าร้อยละ 10 จึงไม่ผิดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 นั้นศาลได้ตรวจดูสัญญาขายที่ดิน ข้อ 3 ระบุว่าขายพร้อมตึกแถว 3 ชั้น1 คูหา เลขที่ 5 ปลูกมา 11 ปี ขนาด 3.5 คูณ 10 เมตร ติดซอยไม่เกิน 4 เมตร จึงเห็นได้ว่าอาคารของจำเลยขณะซื้อมาเป็นตึกแถว3 ชั้น กว้าง 3.5 เมตร ยาว 10 เมตร ฟังประกอบกับคำเบิกความของนายอำนาจพยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยได้ต่อเติมอาคารพิพาทจากหลังคามุงกระเบื้องเป็นดาดฟ้าคอนกรีตทำเป็นชั้นที่ 4และต่อเติมจากชั้นดาดฟ้าโดยทำหลังคาเป็นชั้นที่ 5 จึงเป็นการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่มิใช่เป็นการซ่อมแซมเพื่อความเป็นระเบียบสวยงาม จำเลยจึงต้องรื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมออกไป
พิพากษายืน