แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาซึ่งเป็นการฟ้องเท็จนั้นโจทก์ย่อมเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จของจำเลยโจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานฟ้องเท็จตามป.อ.มาตรา175ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175 ให้จำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิจารณาคดีนี้อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้แม้จำเลยจะฎีกาในข้อเท็จจริงได้เพราะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาที่ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เพราะจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด ตรงกันข้ามจำเลยยอมรับในอุทธรณ์ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในข้อนี้ ที่จำเลยฎีกามาศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ศาลอุทธรณ์จึงฟังว่าจำเลยกระทำความผิดเป็นการไม่ชอบนั้นเห็นได้ว่าเป็นการฎีกาฝ่าฝืนข้อความตามที่จำเลยอุทธรณ์ไว้ จะถือว่าศาลอุทธรณ์รับฟังไม่ชอบหาได้ไม่
จำเลยฎีกาว่า ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน รัฐเท่านั้นที่จะเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่าผู้เสียหายตามบทกฎหมายดังกล่าว หมายความถึงบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง การที่จำเลยนำความอันเป็นเท็จไปฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่1034/2525 หมายเลขแดงที่ 4377/2525 หาว่าโจทก์กระทำความผิดในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นการฟ้องเท็จโจทก์เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จของจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับราชการมานานถึง 27 ปีจนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรพรรดิมาลา และเหรียญอื่น ๆ ศาลอุทธรณ์ไม่ยกขึ้นวินิจฉัยในการกำหนดโทษและรอการลงโทษไม่ชอบนั้น เห็นว่าดุลพินิจในการกำหนดโทษไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าในกรณีใด ควรกำหนดโทษเพียงใด คงบัญญัติไว้เฉพาะความผิดนั้น ๆ ต้องระวางโทษเท่านั้นเท่านี้ ดังนั้นการกำหนดโทษในระวางโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงเป็นอำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป ว่าคดีใดควรกำหนดโทษเท่าใด ส่วนการรอการลงโทษนั้นมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 สำหรับจำเลยปรากฎในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วว่า นอกจากศาลอุทธรณ์จะได้อ้างเหตุอื่นยังอ้างเหตุโดยคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม และอื่น ๆตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 แล้ว เห็นว่ายังไม่สมควรรอการลงโทษ แสดงว่าศาลอุทธรณ์คำนึงถึงข้อที่จำเลยอุทธรณ์ด้วย จะว่าศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจไม่ชอบหาได้ไม่ และศาลฎีกาก็เห็นพ้องด้วยกับความเห็นของศาลอุทธรณ์ที่ใช้ดุจพินิจไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยส่วนการกำหนดโทษนั้นเห็นว่า คดีเดิมเป็นคดีที่ยอมความได้ และโทษชั้นสูงก็กำหนดไว้เพียง 1 ปี ทั้งจำเลยก็เป็นผู้ที่เคยมีคุณงามความดีมาก่อน จึงเห็นสมควรลดโทษให้ต่ำลงตามรูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์”.