คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2535/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความว่าอาวุธปืนสั้นกระบอกที่จำเลยใช้ทำการชิงทรัพย์ผู้เสียหายเป็นอาวุธปืนที่จำเลยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และจำเลยมิได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวทั้งมิได้นำอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวมาเป็นหลักฐาน แม้จำเลยจะมิได้นำสืบปฏิเสธว่า อาวุธปืนกระบอกดังกล่าวจำเลยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้วและจำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดสองฐานนี้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ได้
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาเพียงว่า จำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปตามทางสาธารณะโดยไม่มีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ซึ่งแก้ไขใหม่แล้วเพียงบทเดียวโดยมิได้ปรับบทความผิดว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 อีกบทหนึ่งจึงเท่ากับยกฟ้องมาตรานี้ การที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกบทหนึ่งให้ถูกต้อง ข้อหาตามมาตราดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะฎีกาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 มิได้ เพราะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ข้อนี้ให้

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๓๔๐ ตรี ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕ ให้จำคุก ๑๘ ปี กระทงหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗ มาตรา ๗๒ให้จำคุก ๒ ปี กระทงที่สองและตาม มาตรา ๘ ทวิ มาตรา ๗๒ ทวิ ให้จำคุก ๑ ปี เป็นกระทงที่สามรวมเป็นจำคุก ๒๑ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์รวมเป็นเงิน ๓๒,๓๘๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องสำหรับข้อหาฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนและข้อหาฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุกกระทงแรก ๑๘ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า จำเลยมีความผิดในข้อหามีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อหาพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังโจทก์ฎีกาหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา มีชายสองคนขับรถจักรยานยนต์มาจอดที่หน้าร้านของผู้เสียหาย แล้วเข้าไปในร้านเพื่อซื้อไขควง จำเลยเป็นคนหนึ่งในจำนวนชายสองคนนี้ขณะผู้เสียหายหยิบไขควงให้จำเลยกับพวกเลือกดู จำเลยกับพวกได้ชักอาวุธปืนสั้นคนละกระบอกออกมาจ้องที่ผู้เสียหาย และบอกให้ผู้เสียหายไปเปิดลิ้นชักโต๊ะที่เก็บเงินแล้วบังคับให้ผู้เสียหายก้มศีรษะ จำเลยใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหาย ๒ ที ผู้เสียหายเปิดลิ้นชักให้พวกของจำเลยหยิบเงินสดจากลิ้นชักไป ๓,๐๐๐ บาทเศษ เงินสดที่ห่อไว้ในกระดาษหนังสือพิมพ์อีกจำนวน ๒๗,๙๐๐ บาท เครื่องคิดเลข ๑ เครื่องและนาฬิกาข้อมือ ๑ เรือน จากนั้นจำเลยกับพวกค้นตัวผู้เสียหายได้เงินสดไปอีกประมาณ ๖๐๐ บาทแล้วบังคับให้ผู้เสียหายมุดเข้าไปใต้โต๊ะ และได้ใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหายที่หลังและสะโพกอีกหลายที จากนั้นได้ลากผู้เสียหายออกมาใช้อาวุธปืนตีที่ขมับทั้งสองข้างจนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย แล้วเอาไปขังไว้ในห้องน้ำหลังร้าน จากนั้นจำเลยกับพวกขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป และเอาพัดลมตั้งโต๊ะ ๒ เครื่องไปด้วย ต่อมาวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ ผู้เสียหายไปที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนเห็นจำเลยซึ่งถูกจับในคดีอื่นถูกขังอยู่ในห้องขังของสถานีตำรวจ จึงแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทุกข้อหาโจทก์จึงต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามฟ้องทุกข้อหา สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปตามทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ โจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความว่า อาวุธปืนสั้นกระบอกที่จำเลยใช้ทำการชิงทรัพย์ผู้เสียหายคดีนี้เป็นอาวุธปืนที่จำเลยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และจำเลยมิได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวทั้งมิได้นำอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวมาเป็นหลักฐาน แม้จำเลยจะมิได้นำสืบปฏิเสธว่าอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวจำเลยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้ว และจำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดสองฐานนี้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ตามที่โจทก์ฎีกาได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีความผิดฐานพกพาอาวุธไปตามทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ ด้วยนั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเพียงว่า จำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปตามทางสาธารณะโดยไม่มีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ ซึ่งแก้ไขใหม่แล้วเพียงบทเดียวโดยมิได้ปรับบทความผิดว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ อีกบทหนึ่งจึงเท่ากับยกฟ้องมาตรานี้เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗๑ อีกบทหนึ่งให้ถูกต้อง ข้อหาตามบทมาตราดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะฎีกาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ มิได้ เพราะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share