คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3146/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ข้อหาฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนข้อหาฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยแก้โทษเฉพาะจำเลยที่ 2 และระยะเวลาการควบคุมเพื่อฝึกอบรมของจำเลยทั้งสองโดยลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำคนละ 2 ปี และขั้นสูงคนละ 3 ปี แม้ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี แต่การที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยโดยส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนดคนละ 3 ปี แทนการลงโทษอาญาแก่จำเลยทั้งสองนั้น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และแก้กำหนดระยะเวลาส่งตัวจำเลยทั้งสองไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนขั้นต่ำคนละ 2 ปี และขั้นสูงคนละ 3 ปี เป็นการพิพากษายืนในเรื่องการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัย ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124 ประกอบมาตรา 6 และ ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไป ในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 50 บาท ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาลงโทษในความผิดฐานนี้จำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานโจทก์ทุกปากมีพิรุธ ทั้งลักษณะแห่งคดีนับว่าเป็นพิรุธ ควรยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสอง เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร และที่จำเลยทั้งสองฎีกา ขอให้ลงโทษต่ำกว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนด เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
ตาม ป.วิ.อ. แม้จะมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าหน้าที่หรือภาระการพิสูจน์ความผิดของจำเลยตกอยู่แก่โจทก์ แต่ตามมาตรา 158 (5) กำหนดให้คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีกับมาตรา 15 กำหนดว่า วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 กำหนดว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน ให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง แต่ว่า (1) คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งได้ หรือซึ่งศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว (2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวในคำฟ้อง
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีและใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสาม ทั้ง พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 13 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตตามความในหมวดนี้ (คือหมวด 1 อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน) แก่…(4) บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ …” ซึ่งบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ศาลย่อมรู้ได้เอง ประกอบกับข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อาจโต้แย้งได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงเป็นที่เห็นได้ว่า นายทะเบียนอาวุธปืนย่อมไม่อาจออกใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืนให้แก่จำเลยทั้งสองได้ตามบทกฎหมายข้างต้นถือได้ว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ป.อ. มาตรา 80, 83, 91, 288, 371, 32, 33 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายเจสันต์ จำปาเทศ ผู้เสียหายที่ 3 และนายศักดิ์ดา จำปาเทศ ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะข้อหาฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยให้เรียกผู้เสียหายที่ 3 ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่าโจทก์ร่วมที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 และมาตรา 371 พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 มีอายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 2 มีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 และ 76 ตามลำดับฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 8 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดคนละ3 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 เมื่อลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 และ 76 ตามลำดับแล้ว คงปรับจำเลยทั้งสองคนละ 50 บาท สำหรับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีมีกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำคนละ 2 ปี และขั้นสูงคนละ 3 ปี ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ก็ให้ยึดทรัพย์สินมาใช้ค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 และมาตรา 371 พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 มีอายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 2 มีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 และ 76 ตามลำดับฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 8 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดคนละ 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 เมื่อลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยทั้งสองคนละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ.มาตรา 75 และ 76 ตามลำดับคงปรับจำเลยทั้งสองคนละ 50 บาท สำหรับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีมีกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำคนละ 2 ปี และขั้นสูงคนละ 3 ปี ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินมาใช้ค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คงยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ข้อหาฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนข้อหาฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนในความผิดฐานนี้ โดยแก้โทษเฉพาะจำเลยที่ 2 และระยะเวลาการควบคุมเพื่อฝึกอบรมของจำเลยทั้งสองโดยลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำคนละ 2 ปี และขั้นสูงคนละ 3 ปี นั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี แต่การที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยโดยส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีมีกำหนดคนละ 3 ปี แทนการลงโทษอาญาแก่จำเลยทั้งสองนั้น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ลดโทษให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 78 และแก้กำหนดระยะเวลาส่งตัวจำเลยทั้งสองไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีขั้นต่ำคนละ 2 ปี และขั้นสูงคนละ 3 ปี ก็เป็นการพิพากษายืนในเรื่องการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124 ประกอบมาตรา 6 และ ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐาน ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 50 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมิได้พิพากษาลงโทษในความผิดฐานนี้จำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานโจทก์ทุกปากมีพิรุธ ทั้งบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุมิได้ระบุว่าใครคือคนยิง ไม่มีการจับกุมจำเลยทั้งสองเพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์เขม่าดินปืน ไม่มีการตรวจค้นหาอาวุธปืนจากจำเลยทั้งสองดังนี้ ลักษณะแห่งคดีจึงนับว่าเป็นพิรุธ ควรยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสอง ขอให้พิพากษายกฟ้อง เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร และที่จำเลยทั้งสองฎีกาเรื่องปรับบทลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นลงโทษคนละ 4 ปี 6 เดือน (ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 6 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน) นั้น เป็นการวางโทษที่สูงเกินไป ขอให้ลงโทษต่ำกว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนด เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับโจทก์นั้นย่อมมีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นการพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ต้องห้ามฎีกา ซึ่งในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า ตามกฎหมายมิได้กำหนดให้หน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ความผิดตกแก่โจทก์ แต่หน้าที่การพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยตกอยู่แก่คู่ความทุกฝ่าย รวมทั้งศาลนั้น เห็นว่า แม้ตาม ป.วิ.อ. จะมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าหน้าที่หรือภาระการพิสูจน์ความผิดของจำเลยตกอยู่แก่โจทก์ แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) กำหนดให้คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี กับมาตรา 15 กำหนดว่า วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 กำหนดว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน ให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง แต่ว่า (1) คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งได้ หรือซึ่งศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว (2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ดังนั้น เมื่อนำ ป.วิ.พ. มาตรา 84 มาใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปัญหาว่าโจทก์นำสืบได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืนหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีและใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสาม ทั้ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 13 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตตามความในหมวดนี้ (คือหมวด 1 อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน) แก่…(4) บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ…” ซึ่งบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวศาลย่อมรู้ได้เอง ประกอบกับข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อาจโต้แย้งได้ว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งสองยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้น จึงเป็นที่เห็นได้ว่านายทะเบียนอาวุธปืนย่อมไม่อาจออกใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืนให้แก่จำเลยทั้งสองได้ตามบทกฎหมายข้างต้น ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องฐานความผิดทั้งสองดังกล่าวนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share