คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3137/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้มีอำนาจขอให้บังคับคดีได้คือคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจเป็นโจทก์หรือจำเลยในคดีนั้น หรืออาจเป็นบุคคลภายนอกซึ่งร้องสอดเข้ามาในคดี แต่ผู้ร้องมิได้เป็นโจทก์ จำเลย หรือเป็นผู้ร้องสอดในคดีนี้ ผู้ร้องมีฐานะเป็นแต่เพียงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีในคดีนี้ได้ เมื่อคู่ความไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้ผู้ร้องต้องเสียหายอย่างไร ผู้ร้องก็ชอบที่จะต้องไปดำเนินคดีฟ้องร้องกันเป็นคดีต่างหาก จะใช้สิทธิขอบังคับในคดีนี้ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสี่ฟ้องร้องพิพาทกันเรื่องผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน แล้วคู่ความทั้งสองฝ่ายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอม โดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับผู้ร้องว่า จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทั้งสามฝ่ายตกลงเลิกสัญญาหุ้นส่วนต่อกันและให้ถือว่าตามที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2273, 75129, 85232 ถึง 85237 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการชำระค่าหุ้นที่มีต่อกันโดยชอบ และโจทก์ที่ 1 ยินยอมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 75129 บางส่วน เนื้อที่ 700 ตารางวา เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ให้แก่ นายธีรวัฒน์ กรศิลป ให้ถือว่าหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1738/2540 ระหว่าง จำเลยที่ 1 กับนายธีรวัฒน์ กรศิลป เป็นอันระงับ และโจทก์ที่ 1 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 85235 บางส่วน เนื้อที่ 140 ตารางวา ให้แก่นายธีรวัฒน์ กรศิลป ทั้งนี้นายธีรวัฒน์ กรศิลป ตกลงชำระเงินค่าโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 2,100,000 บาท โดยชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นรายเดือนเดือนละ 100,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2541 จนกว่าจะครบ แต่ทั้งนี้โจทก์ที่ 1 จะต้องดำเนินการโอนที่ดินภายใน 1 เดือน นับแต่วันทำสัญญานี้ ทั้งนี้ที่ดินทั้งสองแปลงนายธีรวัฒน์ กรศิลป ตกลงให้โจทก์ที่ 1 ซื้อกลับคืนได้ตามราคาข้างต้น โดยแปลงโฉนดเลขที่ 75129 นี้ คิดราคา 6,100,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากจำนวนเงินที่นายธีรวัฒน์ กรศิลป ชำระนับแต่วันที่ได้ชำระเงินค่าโอนไปจนถึงวันที่ตกลงซื้อคืน หรือให้จำเลยที่ 1 ซื้อคืนได้ในเงื่อนไขดังกล่าวโดยให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ยินยอมด้วยโดยกำหนดเวลาซื้อคืนภายใน 2 ปี นับแต่วันนี้หากโจทก์ที่ 1 โอนที่ดินให้แก่นายธีรวัฒน์ กรศิลป ไม่ได้ไม่ว่าด้วยประการใดๆ โจทก์ที่ 1 ยอมชดใช้ราคาที่ดินสองแปลงดังกล่าวให้แทนจำนวน 8,200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และโจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถมดิน จำเลยที่ 1 ตกลงคิดค่าถมดิน 2,250,000 บาท เงินจำนวนนี้โจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 หักจากราคาที่ดินที่โจทก์ที่ 1 โอนให้แก่นายธีรวัฒน์ กรศิลป ในราคา 6,100,000 บาท และนายธีรวัฒน์ กรศิลป สัญญาว่าจะทำการถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 75128 เลขที่ดิน 68 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีแพ่งดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 ในการถอนการยึดดังกล่าวนายธีรวัฒน์ กรศิลป โจทก์ที่ 1 และที่ 3 และจำเลยที่ 1 ยินยอมเสียค่าธรรมเนียมในการถอนการยึดฝ่ายละ 25,000 บาท และโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะยื่นคำร้องถอนฟ้องจำเลยทุกคนในคดีอาญาของศาลแขวงนครศรีธรรมราช คดีหมายเลขดำที่ 2270/2540 หรือในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 และหากนายธีรวัฒน์ กรศิลป ไม่ไปดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมฉบับนี้เป็นการแสดงเจตนาแทนฝ่ายที่ผิดสัญญา
ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ที่ 1 ผิดนัด ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมทำให้ผู้ร้องเสียหายไม่ได้รับชำระหนี้ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมิใช่คู่ความในคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้ยกคำขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น และยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตโดยไม่รอว่าคู่ความฝ่ายอื่นจะยื่นอุทธรณ์และคัดค้านคำร้องดังกล่าวภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 วรรคหนึ่ง หรือไม่ แต่ก็ปรากฏว่าคู่ความฝ่ายอื่นได้รับสำเนาคำร้องและสำเนาอุทธรณ์แล้วก็ไม่มีผู้ใดยื่นคัดค้านคำร้อง การจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติตามขั้นตอนให้ถูกต้อง กล่าวคือรอให้ล่วงพ้นเวลาที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้วจึงมีคำสั่งอนุญาต ผลก็จะเป็นเช่นเดียวกัน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่ย้อนสำนวนและวินิจฉัยคดีไปเสียทีเดียว
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1738/2540 ของศาลชั้นต้น และเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้โจทก์ที่ 1 โอนที่ดินให้ผู้ร้อง ย่อมทำให้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้และเป็นคู่ความมีสิทธิที่จะขอบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271, 275 เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ผู้มีอำนาจขอให้บังคับคดีได้คือคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจเป็นโจทก์หรือจำเลยในคดีนั้น หรืออาจเป็นบุคคลภายนอกซึ่งร้องสอดเข้ามาในคดีนั้นก็ได้ แต่ผู้ร้องมิได้เป็นโจทก์ เป็นจำเลย หรือเป็นผู้ร้องสอดในคดีนี้ ผู้ร้องมีฐานะเป็นแต่เพียงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีในคดีนี้ได้ เมื่อคู่ความฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้ผู้ร้องต้องเสียหายอย่างไร ผู้ร้องก็ชอบที่จะต้องไปดำเนินคดีฟ้องร้องกันเป็นคดีต่างหาก จะใช้สิทธิขอบังคับคดีในคดีนี้ไม่ได้เพราะไม่มีบทกฎหมายให้อำนาจไว้ คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว อุทธรณ์ผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share