แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ผู้เสียหายจะเบิกความว่าขณะเกิดเหตุมีโอกาสเห็นหน้าคนร้ายชัดเจนอยู่นานพอสมควรจึงจำคนร้ายได้แต่ขณะเบิกความคดีนี้จำคนร้ายไม่ได้เพราะเวลาล่วงเลยมานานถึง 5 ปีเศษแล้วก็ตาม แต่ผู้เสียหายเคยเบิกความไว้ในคดีอาญาก่อนว่าในคืนเกิดเหตุจำคนร้ายได้ 1 คน ทราบชื่อภายหลังว่า ชื่อ อ.และได้ชี้บุคคลที่ศาลทำเครื่องหมายดอกจันไว้ในภาพถ่ายในคดีดังกล่าวประกอบคำเบิกความว่าคือ อ.จำเลยคดีนี้ ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่าบุคคลที่ศาลทำเครื่องหมายดอกจันไว้ในภาพถ่ายคือจำเลย จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุพยานจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยและสามารถชี้ภาพถ่ายจำเลยได้ถูกต้อง ส่วนประจักษ์พยานโจทก์อีก 3 ปาก เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ออกตรวจท้องที่ในคืนเกิดเหตุก็เพราะได้รับแจ้งเหตุว่ามีคนร้าย ซึ่งในภาวะและพฤติการณ์เช่นนั้นประจักษ์พยานย่อมมีความระมัดระวังต่อเหตุการณ์ทุกขณะ การที่รถแล่นมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นที่เปลี่ยวและมีคนออกมายืนข้างถนนส่องไฟฉายขึ้นลงเป็นสัญญาณ ให้รถหยุดย่อมมีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าอาจจะเป็นคนร้ายที่มาดักปล้นรถยนต์ทั้งคนร้ายที่ส่องไฟฉายให้สัญญาณรถยนต์ซึ่งกระทำอยู่หน้ารถย่อมจะหันหน้าเข้าหารถและแสงไฟจากหน้ารถ ก็จะส่องไปที่หน้าคนร้าย ประจักษ์พยานทั้งสามซึ่งคอยระมัดระวังเหตุอยู่แล้วย่อมสนใจมองไปที่คนร้ายที่ส่องไฟฉายว่าจะเป็นพวกที่มาดักปล้นรถหรือไม่ เพราะขณะนั้นก็มีรถจักรยานยนต์จอดอยู่คนละฟากถนน 1 คันและมีชายยืนอยู่ข้างรถ 2 คน แสงไฟหน้ารถที่ส่องสว่างก็สามารถเห็นได้ ตั้งแต่ระยะ 50 เมตรจนกระทั่งรถแล่นเข้าไปใกล้และจอดในระยะห่าง จากคนร้ายประมาณ 10 เมตร ในพฤติการณ์ดังกล่าวประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามย่อมมีโอกาสเห็นหน้าคนร้ายชัดเจน ประกอบกับประจักษ์พยานโจทก์ต่างก็รู้จักจำเลยดีเพราะเคยจับกุมจำเลยมาก่อน ดังนั้น ที่ประจักษ์พยานยืนยันว่า จำหน้าคนร้ายที่ส่องไฟฉายขึ้นลงเป็นสัญญาณให้หยุดได้ว่าเป็นจำเลยและชี้ตัวจำเลยในชั้นสอบสวนได้ถูกต้องด้วยจึงน่าเชื่อถือนอกจากนี้ ในคืนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจได้ยิงต่อสู้กับคนร้ายด้วย ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจก็ติดตามจับ ส. ได้เพราะถูกยิงได้รับบาดเจ็บไปรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ทราบชื่อคนร้ายตั้งแต่คืนเกิดเหตุจึงช่วยสนับสนุนให้คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งขึ้น อนึ่ง หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไปนานถึง 5 ปีเศษ นับว่าเป็นพิรุธ ที่จำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ก็เป็นการนำสืบลอย ๆ มีน้ำหนักน้อยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฟังได้ว่าจำเลย กับพวกได้ร่วมกับ ส. กระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์จำนวน 1 คัน ของผู้มีชื่อ ในการปล้นทรัพย์ดังกล่าว จำเลยกับพวกได้ใช้อาวุธปืนที่มีและพาติดตัวไปขู่เข็ญบังคับให้ผู้มีชื่อจอดรถมิฉะนั้นจะยิงประทุษร้ายผู้มีชื่อกับพวกให้ถึงแก่ความตายหากขัดขืนทั้งนี้ เพื่อให้ความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นจำเลยกับพวกได้ลงมือกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ไปโดยตลอดแล้วแต่ไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจได้พบเห็นและขัดขวางการกระทำผิดดังกล่าวของจำเลยกับพวกเสียก่อน จำเลยกับพวกได้ต่อสู้และขัดขวางโดยร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงเจ้าพนักงานตำรวจอันเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 138, 140, 288, 289,340, 340 ตรี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 83, 340 ตรี ลงโทษจำคุก12 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายสมรักษ์หรือมนต์รักษ์ พนาลี จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1636/2534ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิพากษาลงโทษจำคุกคดีถึงที่สุดไปแล้ว กับพวก ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ตามฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกับนายสมรักษ์หรือมนต์รักษ์กระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสมพร จิตต์ธรรมผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า ในคืนเกิดเหตุพยานได้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่นายสุชาติเป็นคนขับไปตามถนนสายบ้านส้องนครศรีธรรมราช มุ่งหน้าไปทางบ้านส้องเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุบริเวณสามแยกทางเข้าสถานีรถไฟกะเบียดซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับศาลาที่พักริมทาง พยานเห็นแสงไฟฉายส่องขึ้นลงทางด้านขวามือ เป็นสัญญาณเหมือนเจ้าพนักงานตำรวจสกัดให้รถหยุด พยานเข้าใจว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ นายสุชาติจึงหยุดรถ คนร้ายที่ส่องไฟฉายเดินเข้ามาหานายสุชาติกับพยานและยืนห่างกันประมาณ 1 เมตร คนร้ายถืออาวุธปืนด้วยมือขวามือซ้ายถือไฟฉาย คนร้ายได้ถามถึงทรัพย์สินของพยาน ระหว่างที่พูดกันอยู่นั้นพยานเปิดหน้าหมวกกันน็อค เห็นกลุ่มคนร้ายอีกประมาณ 5 ถึง 6 คน อยู่ที่ศาลาที่พักริมทาง แต่เห็นไม่ชัดว่าเป็นใครเพราะมืด คนร้ายที่เข้ามาพูดกับพยาน ขณะนั้นพยานจำหน้าคนร้ายได้ แต่ขณะที่เบิกความนี้จำหน้าคนร้ายไม่ได้เพราะเหตุเกิดนานมาแล้ว ขณะนั้นมีรถยนต์กระบะแล่นสวนมาข้างหน้าจากบ้านส้องจะไปทางจังหวัดนครศรีธรรมราช มีแสงไฟหน้ารถส่องสว่างคนร้ายจึงเดินกลับไปทางถนนฝั่งตรงกันข้ามใช้ไฟฉายส่องขึ้นลงเป็นสัญญาณให้รถหยุด รถยนต์กระบะได้หยุดในระยะห่างจากคนร้ายประมาณ 10 เมตร เหตุการณ์ตอนนี้นายดาบตำรวจนิกร ซังเหยี่ยวนายดาบตำรวจภิญโญ ภู่พงษ์ และสิบตำรวจตรีชลธิช มณีแสงพยานโจทก์อีก 3 ปากเบิกความว่า ในคืนเกิดเหตุได้ร่วมกันออกตรวจท้องที่เพราะได้รับแจ้งว่ามีคนร้ายออกสกัดตรวจรถชาวบ้านสิบตำรวจตรีชลธิชเป็นคนขับรถยนต์กระบะมีพันตำรวจโทชุมพล บุญเติมนั่งหน้ารถคู่กับคนขับ นายดาบตำรวจนิกรและนายดาบตำรวจภิญโญนั่งที่กระบะหลังรถ เมื่อรถยนต์กระบะแล่นมาอีกประมาณ 50 เมตรจะถึงสามแยกทางเข้าสถานีรถไฟกะเบียด มีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งจอดอยู่ทางขวามือ มีชาย 2 คนสวมหมวกกันน็อคยืนอยู่ข้างรถข้างถนนทางซ้ายมือมีนายสมรักษ์ หรือมนต์รักษ์และจำเลยยืนอยู่จำเลยเป็นคนถือไฟฉายส่องขึ้นลงเป็นสัญญาณให้รถหยุดเมื่อรถยนต์กระบะแล่นเข้าไปใกล้และหยุดอยู่ในระยะ 10 เมตรเห็นคนร้ายอีก 2 คนยืนอยู่ที่ศาลาที่พักริมทางพันตำรวจตรีชุมพลสั่งให้นายดาบตำรวจนิกรกับนายดาบตำรวจภิญโญลงไปทำการตรวจค้น นายดาบตำรวจนิกรกับนายดาบตำรวจภิญโญลงจากรถยนต์กระบะและเดินผ่านไปทางหน้ารถ จำเลยกับนายสมรักษ์เห็นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจก็วิ่งเข้าไปที่ศาลาที่พักริมทางต่อมามีเสียงปืนดังมาจากศาลาที่พักริมทาง และมีการยิงต่อสู้กันระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจกับคนร้าย จำเลย นายสมรักษ์หรือมนต์รักษ์กับพวกหลบหนีไปได้ วันรุ่งขึ้นพันตำรวจโทชุมพลทราบว่านายสมรักษ์หรือมนต์รักษ์ถูกยิงได้รับบาดเจ็บไปรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี พนักงานสอบสวนจึงดำเนินคดีกับนายสมรักษ์หรือมนต์รักษ์ เห็นว่า นายสมพรผู้เสียหายอยู่ใกล้ชิดคนร้ายมากที่สุด คือประมาณ 1 เมตร คนร้ายได้เข้ามาพูดกับนายสมพรเป็นเวลานานพอสมควร ขณะที่พูดกัน นายสมพรก็เปิดหน้าหมวกกันน็อคและแสงไฟจากหน้ารถจักรยานยนต์ก็เปิดสว่างอยู่นายสมพรจึงมีโอกาสเห็นหน้าคนร้ายชัดเจนอยู่นานพอสมควรน่าจะจำคนร้ายได้ ดังนั้นที่นายสมพรเบิกความว่าขณะเกิดเหตุจำคนร้ายได้ แต่ขณะเบิกความคดีนี้จำคนร้ายไม่ได้เพราะเวลาได้ล่วงเลยมานานถึง 5 ปีเศษแล้ว ก็มีเหตุผลอยู่ แต่อย่างไรก็ตามนายสมพรเคยเบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1636/2534ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2533 ว่าในคืนเกิดเหตุจำคนร้ายได้ 1 คน ทราบชื่อภายหลังว่าชื่อนายอรุณ ราชธานีและได้ชี้บุคคลที่ศาลทำเครื่องหมายดอกจันไว้ในภาพถ่ายหมาย จ.6ในคดีดังกล่าวประกอบคำเบิกความว่าคือนายอรุณ ราชธานีจำเลยคดีนี้ ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่าบุคคลที่ศาลทำเครื่องหมายดอกจันไว้ในภาพถ่ายหมาย จ.6 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1636/2534ของศาลชั้นต้น คือจำเลย จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุพยานจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยและสามารถชี้ภาพถ่ายจำเลยได้ถูกต้องแต่ขณะเบิกความคดีนี้เวลาได้ล่วงเลยมานานถึง 5 ปีเศษแล้วพยานอาจจำคนร้ายไม่ได้ก็มิใช่เรื่องผิดปกติไม่ทำให้คำเบิกความของพยานเป็นพิรุธ ส่วนนายดาบตำรวจนิกร นายดาบตำรวจภิญโญและสิบตำรวจตรีชลธิช ประจักษ์พยานโจทก์อีก 3 ปากที่ออกตรวจท้องที่ในคืนเกิดเหตุก็เพราะได้รับแจ้งเหตุว่ามีคนร้ายจะดักปล้นรถจักรยานยนต์ จึงได้แต่งเครื่องแบบพร้อมนำอาวุธปืนออกตรวจการณ์ซึ่งในภาวะและพฤติการณ์เช่นนั้นประจักษ์พยานย่อมมีความระมัดระวังต่อเหตุการณ์ทุกขณะ การที่รถแล่นมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นที่เปลี่ยวและมีคนออกมายืนข้างถนนส่องไฟฉายขึ้นลงเป็นสัญญาณให้รถหยุดย่อมมีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าอาจจะเป็นคนร้ายที่มาดักปล้นรถยนต์ ทั้งคนร้ายที่ส่องไฟฉายให้สัญญาณให้รถหยุดซึ่งกระทำอยู่หน้ารถย่อมจะหันหน้าเข้าหารถ และแสงไฟจากหน้ารถก็จะส่องไปที่หน้าคนร้ายประจักษ์พยานทั้งสามซึ่งคอยระมัดระวังเหตุอยู่แล้วย่อมสนใจมองไปที่คนร้ายที่ส่องไฟฉายว่าจะเป็นพวกมาดักปล้นรถหรือไม่ เพราะขณะนั้นก็มีรถจักรยานยนต์จอดอยู่คนละฟากถนน 1 คัน และมีชายยืนอยู่ข้างรถ2 คนด้วย แสงไฟหน้ารถที่ส่องสว่างก็สามารถเห็นได้ตั้งแต่ระยะ 50 เมตร จนกระทั่งรถแล่นเข้าไปใกล้และจอดในระยะห่างจากคนร้ายประมาณ 10 เมตร ในพฤติการณ์ดังกล่าวประจักษ์พยานทั้งสามย่อมมีโอกาสเห็นหน้าคนร้ายชัดเจน ประกอบกับนายดาบตำรวจนิกรและนายดาบตำรวจภิญโญต่างก็รู้จักจำเลยดีเพราะเคยจับกุมจำเลยมาก่อน ดังนั้นที่นายดาบตำรวจนิกรกับนายดาบตำรวจภิญโญเบิกความยืนยันว่า จำคนร้ายที่ส่องไฟฉายขึ้นลงเป็นสัญญาณให้หยุดได้ว่าเป็นจำเลย และนายดาบตำรวจนิกรชี้ตัวจำเลยในชั้นสอบสวนได้ถูกต้องด้วย ตามบันทึกการชี้ตัวเอกสารหมาย จ.1จึงน่าเชื่อถือส่วนที่นายดาบตำรวจภิญโญไม่ได้ชี้ตัวจำเลยในชั้นสอบสวนก็เพราะย้ายไปรับราชการที่อื่น สำหรับสิบตำรวจตรีชลธิชซึ่งเป็นคนขับรถยนต์กระบะย่อมเห็นคนร้ายได้ชัดเจนกว่าใคร แต่กลับเบิกความว่าจำได้แต่นายสมรักษ์ส่วนคนร้ายที่ส่องไฟฉายไม่เห็นหน้าแต่มีลักษณะคล้ายกับนายอรุณ ราชธานี จำเลยนั้น ก็ได้ความว่าสิบตำรวจตรีชลธิชเคยเบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1636/2534 ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2534 ว่า ขณะขับรถได้เปิดไฟสูง เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุเห็นหน้าคนร้าย 2 คนชัดเจน คือนายสมรักษ์กับนายอรุณราชธานี นายสมรักษ์ถือปืนสั้นนายอรุณถือไฟฉาย จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าสิบตำรวจตรีชลธิชก็จำจำเลยได้เช่นกัน แต่ที่เบิกความว่าไม่เห็นหน้าคนร้ายที่ส่องไฟฉาย แต่มีลักษณะคล้ายกับนายอรุณจำเลยนั้นก็น่าจะเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยมากกว่านอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจเอกราชศักดิ์ จันทร์ฉายพนักงานสอบสวนอีกว่าในคืนเกิดเหตุพันตำรวจโทชุมพลได้กลับมาสถานีตำรวจภูธรอำเภอฉวางแจ้งว่าคนร้ายได้มาดักปล้นรถยนต์โดยออกมายืนข้างถนนใช้ไฟฉายส่องขึ้นลงเป็นสัญญาณให้รถหยุดที่สามแยกทางเข้าสถานีรถไฟกะเบียด จึงได้ยิงต่อสู้กับคนร้ายจำคนร้ายได้ 2 คน ที่ออกมายืนข้างถนนให้สัญญาณไฟฉายคือนายสมรักษ์กับนายอรุณ ราชธานี และในบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุซึ่งร้อยตำรวจเอกราชศักดิ์ทำในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุและวันถัดมาตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1636/2534 ก็ระบุว่านายอรุณ ราชธานี และนายสมรักษ์ พนาลีกับพวกอีก 4 คน เป็นคนร้าย ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจก็ติดตามจับนายสมรักษ์หรือมนต์รักษ์ได้เพราะถูกยิงได้รับบาดเจ็บไปรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี แสดงว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้ทราบชื่อคนร้ายตั้งแต่คืนเกิดเหตุ จึงช่วยสนับสนุนให้คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งขึ้น อนึ่งหลังเกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไปนานถึง 5 ปีเศษ นับว่าเป็นพิรุธที่จำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ก็เป็นการนำสืบลอย ๆมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกับนายสมรักษ์หรือมนต์รักษ์กระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น