แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
เอกชนผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกกรมสรรพสามิตออกประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น จึงฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และให้กำหนดราคาที่เป็นฐานในการคำนวณภาษีใหม่ เห็นว่า ประกาศกรมสรรพสามิตฉบับพิพาท เป็นการกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มของโจทก์เพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับฐานภาษีสรรพสามิต และแม้ประกาศฉบับพิพาทจะเป็นคำสั่งทางปกครองก็ตาม แต่ก็เพื่อกำหนดฐานภาษี อันเป็นผลสืบเนื่องจากการวินิจฉัยของเจ้าพนักงานที่เห็นว่าราคาขายที่โจทก์แจ้งไว้เป็นราคาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีเหตุอันสมควร จึงได้ออกเป็นประกาศฉบับใหม่ ซึ่งมีผลเช่นเดียวกันกับการประเมินภาษี จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินภาษีในรูปแบบหนึ่ง เมื่อโจทก์เห็นว่าประกาศดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องขอให้เพิกถอนย่อมเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๒/๒๕๕๖
วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และมาตรา ๙ วรรคสอง (๓)
ศาลภาษีอากรกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลภาษีอากรกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ บริษัทอาเจไทย จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องกรมสรรพสามิต จำเลย ต่อศาลภาษีอากรกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๓/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมตรา “อาเจ บิ๊กโคล่า” และ “อาเจ โอโร่” ชำระภาษีโดยใช้เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีจดทะเบียน (ฝา) พิกัดอัตราสรรพสามิต ประเภท ๐๒.๐๒ ชำระภาษีตามมูลค่าร้อยละ ๒๐ ก่อนการผลิตและจำหน่าย โดยมีการแจ้งราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมสำหรับเครื่องดื่มดังกล่าวขนาดบรรจุขวด ๐.๕๓๕ ลิตร เพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษี ในราคาต่อหน่วย ๖.๔๐ บาท ซึ่งจำเลยได้อนุมัติให้แก่โจทก์แล้ว และโจทก์ได้ถือปฏิบัติตลอดมา ต่อมาจำเลยได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าเครื่องดื่มที่ผลิตในราชอาณาจักรที่ถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี (ฉบับที่ ๑/๒๕๕๓) ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ กำหนดราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติของเครื่องดื่มโจทก์ชนิดขายทั้งภาชนะในราคาภาชนะละ ๘.๑๘ บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์ต่อจำเลย ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เพราะเห็นว่าประกาศดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์เห็นว่าประกาศและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เป็นการเข้าใจผิดในการใช้อำนาจตามกฎหมายและการตีความกฎหมาย กลั่นแกล้งโจทก์ให้เสียโอกาสในการประกอบธุรกิจ ขอให้เพิกถอนประกาศและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว และให้กำหนดราคาที่เป็นฐานในการคำนวณภาษีใหม่
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานของจำเลยได้ตรวจสอบการชำระภาษีของโจทก์พบว่า การชำระภาษีไม่ถูกต้องโดยโจทก์ขายเครื่องดื่มน้ำอัดลมตรา “อาเจ บิ๊กโคล่า” ตามใบกำกับภาษีสูงกว่าราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมที่โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งไว้ โดยไม่ได้ยื่นแจ้งเปลี่ยนแปลงราคาขายใหม่ เจ้าพนักงานของจำเลย จึงได้ประเมินเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตในส่วนที่ขาด ซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลนี้ขอให้เพิกถอนการประเมินเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๐/๒๕๕๓ ทั้งโจทก์ใช้วิธีหลีกเลี่ยงตั้งบริษัทซึ่งมีกรรมการชุดเดียวกับโจทก์และมีที่ตั้งเดียวกันเพื่อซื้อเครื่องดื่มดังกล่าวจากโจทก์ในราคาเท่ากับหรือต่ำกว่าราคาที่โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งราคาขายไว้ แล้วนำไปขายในราคาขวดละ ๘.๑๘ บาท และเมื่อโจทก์ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมตรา “อาเจ โอโร่” ก็ขายในราคาขวดละ ๘.๑๘ บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งราคาขายไว้เช่นกัน จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๑) วรรคสาม ออกประกาศกรมสรรพสามิต ฉบับที่ ๑/๒๕๕๓ กำหนดราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมใหม่สำหรับเครื่องดื่มของโจทก์ทั้งสองชนิดเป็นราคาขวดละ ๘.๑๘ บาท เพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี การออกประกาศและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย คดีโจทก์ไม่ใช่คดีภาษีอากรเพราะประกาศและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ใช่คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีภาษีอากร แต่เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเนื่องจากจำเลยออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าเครื่องดื่มที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี (ฉบับที่ ๑/๒๕๕๓) ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ โดยกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มของโจทก์เพื่อเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีในราคาขวดละ ๘.๑๘ บาท โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า โดยมาตรา ๘ (๑) วรรคสาม ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ให้อำนาจอธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีประกาศมูลค่าของสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี โดยกำหนดราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติ อธิบดีกรมสรรพสามิตจึงมีอำนาจกำหนดมูลค่าของสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษีให้แตกต่างไปจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีแจ้งไว้ได้ ประกาศกรมสรรพสามิตที่พิพาทซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับฐานภาษีสรรพสามิต และแม้ประกาศกรมสรรพสามิตที่พิพาทจะมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็ตาม แต่ก็เป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกมาเพื่อกำหนดฐานภาษีอันเป็นผลสืบเนื่องจากการวินิจฉัยของเจ้าพนักงานที่เห็นว่าราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมที่โจทก์แจ้งไว้เป็นราคาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีเหตุอันสมควร จึงได้ทำการกำหนดราคาเพิ่มขึ้นโดยออกเป็นประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าว ซึ่งมีผลเช่นเดียวกันกับการประเมินภาษี การประเมินมูลค่าเครื่องดื่มเพื่อกำหนดราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินภาษีในรูปแบบหนึ่ง เมื่อโจทก์เห็นว่าประกาศและคำวินิจฉัยเกี่ยวกับประกาศดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมายและประสงค์จะฟ้องคดี เพื่อเพิกถอนหรือแก้ไขประกาศและคำวินิจฉัยต่อศาลย่อมเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ และย่อมไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง การออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าเครื่องดื่มที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี (ฉบับที่ ๑/๒๕๕๓) ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ จำเลยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๘ (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ ในการกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งเป็นสินค้าของโจทก์ที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีสรรพสามิตที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลย มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับเฉพาะรายกับสินค้าของโจทก์เท่านั้น จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การกำหนดมูลค่าของสินค้าเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีตามมาตรา ๘ (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ ดังกล่าว เป็นขั้นตอนการดำเนินการของอธิบดีกรมสรรพสามิตโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการประเมินภาษีเพื่อแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๗๙ และมาตรา ๘๑ ประกอบกับมาตรา ๕๐ หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่เห็นด้วยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองและปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ตามมาตรา ๔๔ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบกับข้อ ๒ (๔) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ส่วนกรณีที่มีการประเมินภาษีตามประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าว ถ้าโจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีของพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีสิทธิคัดค้านการประเมินต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตและอุทธรณ์คำวินิจฉัยคัดค้านต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา ๘๖ และมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ และมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ที่บัญญัติให้ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร กรณีตามคำฟ้อง โจทก์อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งและรองปลัดกระทรวงการคลังได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว จึงมิใช่การพิจารณาอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ประกอบกับโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการประเมินภาษีสรรพสามิต ตลอดจนยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยคำคัดค้านการประเมินภาษีสรรพสามิตและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรแล้วตามคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๐/๒๕๕๓ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าเครื่องดื่มที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี (ฉบับที่ ๑/๒๕๕๓) ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ กำหนดราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติของเครื่องดื่มโจทก์ชนิดขายทั้งภาชนะในราคาภาชนะละ ๘.๑๘ บาท เพิ่มขึ้นจากราคาที่เคยอนุมัติให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยและอุทธรณ์ต่อจำเลย ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ จึงฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว และให้กำหนดราคาที่เป็นฐานในการคำนวณภาษีใหม่ ส่วนจำเลยให้การว่าโจทก์ชำระภาษีไม่ถูกต้องโดยโจทก์ขายเครื่องดื่มน้ำอัดลมตามใบกำกับภาษีสูงกว่าราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมที่โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งไว้ โดยไม่ได้ยื่นแจ้งเปลี่ยนแปลงราคาขายใหม่ และถูกประเมินเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตในส่วนที่ขาดแล้ว ซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้เพิกถอนการประเมินเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๐/๒๕๕๓ ทั้งโจทก์ใช้วิธีหลีกเลี่ยงตั้งบริษัทเพื่อซื้อเครื่องดื่มจากโจทก์ในราคาเท่ากับหรือต่ำกว่าราคาที่โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งราคาขายไว้ แล้วนำไปขายในราคาที่สูงขึ้น จำเลยจึงได้ออกประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มของโจทก์เพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีในราคาที่เพิ่มขึ้น การออกประกาศและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ประกาศกรมสรรพสามิตฉบับพิพาท เป็นการกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มของโจทก์เพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีในราคาขวดละ ๘.๑๘ บาท โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า โดยมาตรา ๘ (๑) วรรคสาม ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ให้อำนาจอธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีประกาศมูลค่าของสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี โดยกำหนดราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติ อธิบดีกรมสรรพสามิตจึงมีอำนาจกำหนดมูลค่าของสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษีให้แตกต่างไปจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีแจ้งไว้ได้ จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับฐานภาษีสรรพสามิต และแม้ประกาศกรมสรรพสามิตฉบับพิพาทจะเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็ตาม แต่ก็เพื่อกำหนดฐานภาษีอันเป็นผลสืบเนื่องจากการวินิจฉัยของเจ้าพนักงานที่เห็นว่าราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมที่โจทก์แจ้งไว้เป็นราคาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีเหตุอันสมควร จึงได้ออกเป็นประกาศกรมสรรพสามิตกำหนดราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลเช่นเดียวกันกับการประเมินภาษี การกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีของเครื่องดื่มโจทก์จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินภาษีในรูปแบบหนึ่ง เมื่อโจทก์เห็นว่าประกาศกรมสรรพสามิตและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับประกาศดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลย่อมเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ และย่อมไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทอาเจไทย จำกัด โจทก์ กรมสรรพสามิต จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ