แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งโยกย้ายโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขัดขวางการทำหน้าที่ของโจทก์และขัดต่อกฎหมาย เพราะโจทก์อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายลูกจ้างและการเจรจา ยังไม่มีข้อยุติซึ่งเป็นการดำเนินการของจำเลยที่ ๒ แต่เพียงผู้เดียว ขอให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายโจทก์และให้โจทก์กลับเข้ารับตำแหน่งเดิม กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่า คำสั่งโยกย้ายโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว กระบวนการยื่นข้อเรียกร้องเสร็จสิ้นลงตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า โจทก์ทำสัญญาเป็นลูกจ้างขององค์การค้าของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งเพื่อหาประโยชน์ให้แก่คุรุสภาและอำนวยความสะดวกให้แก่การศึกษา โดยผลิต จำหน่าย และพัฒนาสื่อการศึกษาทุกประเภท โดยไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและสามารถบริหารกิจการจนมีกำไร การดำเนินกิจการขององค์การค้าของจำเลยที่ ๑ มีลักษณะเดียวกับการดำเนินการของเอกชนซึ่งเป็นการประกอบกิจการเชิงพาณิชยกรรม และความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีลักษณะเป็นนายจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ประกอบกับโจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายอ้างว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงานและยื่นข้อเรียกร้อง อันเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การโต้แย้งว่ามีสิทธิโยกย้ายโจทก์เพราะไม่มีข้อเรียกร้องอยู่ในระหว่างการเจรจา ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๙/๒๕๕๖
วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๔ นายอารีย์ สืบวงค์ โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ ๑ นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ในฐานะผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๓๕/๒๕๕๔ หมายเลขแดงที่ ๑๙๗๑/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ เดิมตำแหน่งหัวหน้าส่วนแผนงาน ระดับ ๗ ฝ่ายบัญชี ปฏิบัติงานที่โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ คณะกรรมการลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการได้ยื่นข้อเรียกร้องประจำปีต่อจำเลยที่ ๑ ต่อมาวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งรักษาการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ระดับ ๘ สังกัดฝ่ายค้าปลีก ณ สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันจังหวัดอุตรดิตถ์ อันเป็นการกลั่นแกล้งและเป็นการโยกย้ายโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขัดขวางการทำหน้าที่ของโจทก์และขัดต่อกฎหมาย เพราะโจทก์อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายลูกจ้างและการเจรจายังไม่มีข้อยุติ อีกทั้งยังมีปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติของจำเลยที่ ๒ ในการเป็นผู้แทนเจรจาข้อตกลงสภาพการจ้างว่ามีอำนาจหรือไม่ นอกจากนี้การโยกย้ายโจทก์เป็นการดำเนินการของจำเลยที่ ๒ แต่เพียงผู้เดียว โดยไม่มีมติที่ประชุมผู้บริหารเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายในการประชุมเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๔ ตามที่กล่าวอ้างในคำสั่งโยกย้ายโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายโจทก์และให้โจทก์กลับเข้ารับตำแหน่งเดิม กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าที่พัก ค่าเดินทางและค่าพาหนะรับส่งบุตรของโจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า คำสั่งโยกย้ายโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมต่อโจทก์แล้ว ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรมในระหว่างยื่นข้อเรียกร้องสภาพการจ้าง ไม่เป็นความจริง เพราะกระบวนการยื่นข้อเรียกร้องประจำปี ๒๕๕๓ ได้เสร็จสิ้นลงตามกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ใดๆ ไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับที่ให้สิทธิโจทก์เบิกค่าที่พัก ค่าขนย้าย หรือค่าพาหนะเดินทาง และคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแรงงาน แต่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตกลงทำสัญญากับลูกจ้างของรัฐ อันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการและส่วนหนึ่งของรายได้เป็นเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน แต่มูลพิพาทคดีนี้เป็นเรื่องสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ และเป็นกรณีที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) (๒) และ (๓) คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงาน
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จำเลยที่ ๑ ดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะด้านจัดการศึกษา การที่จำเลยที่ ๑ จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำงานโรงพิมพ์ขององค์การค้าของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งคือจำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองตกลงให้โจทก์เข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง กรณีพิพาทเกี่ยวกับการมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์โดยจำเลยที่ ๒ ถือเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาจ้าง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ไม่ใช่คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงานตามมาตรา ๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลยว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งโยกย้ายโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขัดขวางการทำหน้าที่ของโจทก์และขัดต่อกฎหมาย เพราะโจทก์อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายลูกจ้างและการเจรจายังไม่มีข้อยุติ ทั้งการโยกย้ายโจทก์เป็นการดำเนินการของจำเลยที่ ๒ แต่เพียงผู้เดียว โดยที่ประชุมผู้บริหารไม่ได้ให้ความเห็นชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายโจทก์และให้โจทก์กลับเข้ารับตำแหน่งเดิม กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่า คำสั่งโยกย้ายโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมต่อโจทก์แล้ว ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรมในระหว่างยื่นข้อเรียกร้องสภาพการจ้างไม่เป็นความจริง เพราะกระบวนการยื่นข้อเรียกร้องเสร็จสิ้นลงตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า โจทก์ทำสัญญาเป็นลูกจ้างขององค์การค้าของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ คุรุสภาและอำนวยความสะดวกให้แก่การศึกษา โดยผลิต จำหน่าย และพัฒนาสื่อการศึกษาทุกประเภท โดยไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือหน่วยงานใดและสามารถบริหารกิจการจนมีกำไร จะเห็นได้ว่า การดำเนินกิจการขององค์การค้าของจำเลยที่ ๑ มีลักษณะเดียวกับการดำเนินการของเอกชนซึ่งเป็นการประกอบกิจการเชิงพาณิชยกรรม นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีลักษณะเป็นนายจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ประกอบกับโจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงานและยื่นข้อเรียกร้อง ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องและคำให้การว่า โจทก์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาซึ่งจดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนกลาง ตามใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนกรรมการสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการลูกจ้างขององค์การค้าของจำเลยที่ ๑ ตามคำสั่งสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ต่อมาโจทก์ในฐานะรองประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ปฏิบัติการแทนประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ทำหนังสือยื่นข้อเรียกร้องประจำปี ๒๕๕๓ ต่อจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้อำนวยการองค์การค้า โดยขอให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างทั้งในส่วนที่มีผลกระทบต่อค่าจ้าง สวัสดิการและประโยชน์อื่นอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การค้าของคุรุสภา ตามหนังสือที่ สร.อค ๕๔/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ อันเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ต่อมาจำเลยที่ ๒ ออกคำสั่งองค์การค้าของ สกสค. ที่ ๑/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ เรื่องตั้งหน่วยงาน แต่งตั้ง และย้ายพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. โยกย้ายโจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ต่างจังหวัด อันเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ในขณะที่จำเลยทั้งสองให้การโต้แย้งว่ามีสิทธิโยกย้ายโจทก์เพราะไม่มีข้อเรียกร้องอยู่ในระหว่างการเจรจา ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ เห็นได้ว่า ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายอารีย์ สืบวงค์ โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ ๑ นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ