คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินส่วนหนึ่งในเช็คพิพาทมิได้มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือไว้ เงินส่วนนี้จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ และเมื่อเช็คพิพาทรวมเงินส่วนนี้ในเช็คฉบับเดียวกันและไม่อาจแบ่งแยกกันได้การออกเช็คพิพาททั้งฉบับจึงมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534เป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง และใช้บังคับในระหว่างคดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใหม่ จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาร้อยเอ็ด ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2533 สั่งจ่ายเงินจำนวน 70,000 บาทแล้วมอบให้แก่นางอรุณผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้เงินยืม ต่อมาวันที่7 สิงหาคม 2533 เวลากลางวัน ผู้เสียหายได้นำเช็คไปเบิกเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนเกินกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอรุณ มณีจันทร์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2478 (ที่ถูกน่าจะเป็น พ.ศ. 2497)มาตรา 3 จำคุก 3 เดือน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2532 จำเลยกู้เงินจากโจทก์ร่วม 20,000 บาท โดยออกเช็คของธนาคารกรุงเทพสาขาร้อยเอ็ด ให้แก่โจทก์ร่วมไว้ ต่อมาเดือนสิงหาคม 2532 จำเลยกู้เงินโจทก์ร่วมอีก 20,000 บาท โจทก์ร่วมและจำเลยได้ทำสัญญากู้กันไว้เป็นเงิน 40,000 บาท แล้วโจทก์ร่วมได้คืนเช็คให้แก่จำเลย ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2533 จำเลยมากู้เงินโจทก์ร่วมอีก 30,000 บาท รวมกับหนี้เดิมเป็นเงิน 70,000 บาท จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาร้อยเอ็ด จำนวน 70,000 บาท ตามเอกสาร หมาย จ.1ให้แก่โจทก์ร่วมต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์ร่วมให้สามีนำเช็คไปขึ้นเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเอกสารหมายจ.2 โดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่ายนั้น การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับหลังนี้ มาตรา 3 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 และมาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ” คดีนี้ตามข้อนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมปรากฏว่า เงินส่วนหนึ่งในเช็คพิพาทจำนวน 40,000 บาท โจทก์ร่วมและจำเลยได้มีสัญญากู้ต่อกันซึ่งมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย แต่มีเงินอีกจำนวน 30,000 บาท ซึ่งจำเลยกู้จากโจทก์ แต่มิได้มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือไว้การกู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ การออกเช็คพิพาทมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมายซึ่งไม่เป็นความผิดตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยในเช็คพิพาทฉบับเดียวกัน และไม่อาจแบ่งแยกกันได้การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ในกรณีเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อแตกต่างเรื่องวันที่กับข้อความอื่นในเช็คตามฎีกาของโจทก์อีก ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share