แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 หมายความว่าผู้ใดก็ตามที่จัดให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณก็ดีผิดไปจากแบบแปลนก็ดีผิดไปจากรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตก็ดีผิดไปจากวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตก็ดีการกระทำผิดไปเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวย่อมเป็นการฝ่าฝืนมาตรา31ทั้งสิ้นหาจำเป็นต้องเป็นการกระทำผิดพร้อมกันทั้งหมดไม่
โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดในระหว่างวันที่ 7กันยายน 2522 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยว่าจำเลยก่อสร้างผิดแบบแปลนตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2523 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 และจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2523 ถึงวันที่ 11สิงหาคม 2523จำเลยจะขอให้นับระยะเวลาถึงเพียงวันที่1 กรกฎาคม 2523 ซึ่งการก่อสร้างของจำเลยยังไม่แล้วเสร็จหาได้ไม่
อาคารที่จำเลยก่อสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมแม้ใบอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารจะระบุว่าเพื่อใช้พาณิชย์พักอาศัย และอาคารดังกล่าวจะใช้เพื่ออยู่อาศัยด้วยก็มิได้หมายความว่าอาคารดังกล่าวมิได้ใช้เพื่อพาณิชยกรรมตามความหมายของมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 จำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นการกระทำความผิดไปกรรมหนึ่งแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้ระงับการก่อสร้าง จำเลยก็ยังคงก่อสร้างต่อไปอีกเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งต่างไปจากกรรมแรก แม้ระยะเวลากระทำผิดทั้งสองกรรมจะซ้อนกันในช่วงหลังก็ตามการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำอันเป็นความผิดสองกรรม
ความผิดกระทงแรกนอกจากจะต้องลงโทษตามมาตรา 65 วรรคแรกแล้ว วรรคสองยังให้ปรับอีกวันละ 500 บาท ส่วนความผิดกระทงหลังนั้นมาตรา 67 บัญญัติให้ปรับวันละ 500 บาทปรากฏว่าอาคารที่จำเลยก่อสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมถ้าศาลจะเลือกลงโทษปรับสถานเดียว แต่ละกระทงจะต้องปรับเป็นสิบเท่าตามมาตรา 70 คือปรับวันละ5,000 บาทและอาคารที่จำเลยก่อสร้างยังเป็นของจำเลย เอง ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ดำเนินการตามความหมายของ มาตรา 4 ซึ่งมาตรา 69 บัญญัติให้วางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ จึงต้องปรับ จำเลยสำหรับแต่ละกระทงวันละ 10,000 บาท (วรรค 4 และ 5 วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่9/2528)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารและเป็นผู้ดำเนินการได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรม คือ จำเลยได้ก่อสร้าอาคารไม่ตรงตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้แก้ไข และให้จำเลยระงับการก่อสร้าง จำเลยทราบแล้วแต่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ดำเนินการแก้ไขและยังคงก่อสร้างต่อไปจนเสร็จ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาหารพ.ศ. 2522
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานก่อสร้างอาคารผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4, 31, 65 วรรคแรก, 69, 70 กระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามมาตรา 31, 65 วรรคแรก,69, 70 จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท และปรับตามมาตรา 65 วรรคสอง,69, 70 วันละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ก่อสร้างผิดแบบแปลนคือวันที่ 27 กุมภาพันธ์2523 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 และมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 วรรคแรก, 67, 69, 70 อีกกระทงหนึ่งให้ปรับจำเลยวันละ 10,0000 บาท นับแต่วันที่จำเลยได้รับทราบหนังสือที่ให้ระงับการก่อสร้างวันที่ 3 กรกฎาคม 2523 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาเป็นประการแรกว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 นั้น จะต้องมีการก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากทั้งแผนผัง แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต ถ้าผิดไปแต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งจะถือว่ากระทำผิดตามมาตรา 31 หาได้ไม่นั้น เห็นว่า มาตรา 31 บัญญัติไว้ว่าห้ามผู้ใดจัดให้มีการก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาติ” จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้ย่อมหมายความว่าผู้ใดก็ตามที่จัดให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณก็ดี ผิดไปจากแบบแปลนก็ดี ผิดไปจากรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตก็ดี ผิดไปจากวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตก็ดี การกระทำผิดไปเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวย่อมเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 31 ด้วยกันทั้งสิ้น กรณีหาจำต้องเป็นการกระทำผิดไปทั้งจากแผนผัง แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตพร้อมกันทั้งหมดจึงจะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 31 ไม่
ที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับเรื่องที่ศาลอุทธรณ์คำนวณวันที่จำเลยกระทำผิดไม่ถูกต้องนั้น กรณีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าจำเลยเริ่มก่อสร้างผิดแบบแปลนตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2523 และจำเลยเริ่มฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม2523 เป็นต้นมา จนกระทั่งวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2524 ที่พนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่ก่อสร้าง จำเลยก็ยังทำการก่อสร้างชั้นดาดฟ้าอยู่ยังหาแล้วเสร็จสมบูรณ์ไม่เมื่อโจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดในระหว่างวันที่ 7 กันยายน 2522ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยก่อสร้างผิดแบบแปลนตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2523 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 เท่าที่โจทก์ฟ้องและจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 3กรกฎาคม 2523 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 เช่นเดียวกันนั้นชอบแล้ว จำเลยจะขอให้นับระยะเวลาถึงเพียงวันที่ 1 กรกฎาคม 2523 ซึ่งการก่อสร้างของจำเลยยังไม่แล้วเสร็จดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้หาได้ไม่
ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่าพระราชบัญญัติควบคุมอาหาร พ.ศ. 2522 มิได้มีบทกำหนดโทษไว้สำหรับกรณีก่อสร้างอาคารพาณิชย์และพักอาศัยผิดแผนผังแบบแปลน และขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวไว้จะนำพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 70 มาใช้บังคับกรณีอาคารพาณิชย์และพักอาศัยไม่ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 2 และมาตรา 17 ของประมวลกฎหมายอาญานั้นในปัญหาดังกล่าวนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอาคารที่จำเลยก่อสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม ถึงแม้ตามใบอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.5จะระบุว่าเพื่อใช้พาณิชย์พักอาศัยก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 70 บัญญัติว่าถ้าการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำอันเกียวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา หรือการสาธารณสุข หรือ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็น 10 เท่า ของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ถึงหากอาคารที่จำเลยก่อสร้างจะใช้เพื่ออยู่อาศัยด้วยดังที่จำเลยอ้าง ก็มิได้หมายความว่าอาคารดังกล่าวมิได้ใช้เพื่อพาณิชยกรรมตามมาตรา 70 นี้แต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และมาตรา 17 ดังที่จำเลยฎีกาที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 70 ชอบแล้ว และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรานี้คดีโจทก์จึงมิได้ขาดอายุความดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาจำเลยในปัญหาอื่นนอกจากนี้ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2523 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2523อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 กับฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้าง คงดำเนินการก่อสร้างต่อไปตั้งแต่วันที่ 3กรกฎาคม 2523 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 40 วรรคแรกนั้นเห็นว่า จำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นการกระทำความผิดไปกรรมหนึ่งแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้ระงับการก่อสร้าง จำเลยก็ยังคงก่อสร้างต่อไปอีก เป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งต่างไปจากกรรมแรก แม้ระยะเวลากระทำความผิดทั้งสองกรรมจะซ้อนกันในช่วงหลังก็ตาม ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำอันเป็นความผิดสองกรรม ในปัญหาว่าจะปรับจำเลยตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนมาตรา 31และมาตรา 40 วรรคแรก กระทงละเท่าใด สำหรับความผิดกระทงแรกนั้นนอกจากจะต้องลงโทษตามมาตรา 65 วรรคแรกแล้ว วรรคสองของบทมาตราดังกล่าวยังบัญญัติให้ปรับอีกวันละ 500 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนมาตรา 31 คือตลอดเวลาที่ยังก่อสร้างอาคารผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ส่วนความผิดกระทงหลังนั้นมาตรา 67 บัญญัติให้ปรับวันละ500 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนมาตรา 40 วรรคแรก คือตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคาร ปรากฏว่าอาคารที่จำเลยก่อสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม มาตรา 70 ระวางโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่เกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมไว้ว่า จำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับดังนั้นถ้าศาลจะเลือกลงโทษปรับสถานเดียว แต่ละกระทงจะต้องปรับวันละ 5,000 บาทปรากฏอีกว่าอาคารที่จำเลยก่อสร้างเป็นของจำเลยเองถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ดำเนินการตามความหมายของมาตรา 4 ซึ่งมาตรา 69 บัญญัติว่า ถ้าการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นการกระทำของผู้ดำเนินการผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าจะต้องปรับจำเลยวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนมาตรา 31 สำหรับความผิดกระทงแรก และปรับอีกวันละ10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนมาตรา 40 วรรคแรก สำหรับความผิดกระทงหลังที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทและวางโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน