คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1382/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ส่งถ้อยคำสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาจะปรากฏว่า พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีผลใช้บังคับแล้ว และมิได้มีบทเฉพาะกาลให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปก็ตาม แต่เมื่อขณะที่จำเลยยื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้นั้น คดียังอยู่ในระหว่างใช้บังคับตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 อยู่ คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะต้องรับไว้พิจารณาพิพากษา

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานของจำเลย ตามสัญญากำหนดว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ระหว่างที่โจทก์ทำการก่อสร้าง จำเลยได้ขอให้เปลี่ยนแปลงงานที่ก่อสร้างและมีปัญหาเรื่องจำเลยค้างชำระค่าจ้างและค่าใช้ จ่ายในการก่อสร้างโจทก์จึงได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย จำเลยได้ปฏิเสธไม่ยอมชำระเงินที่โจทก์เรียกร้อง และได้ยื่นคำร้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ทำงานล่าช้า มีการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการหลายนัด ในที่สุดโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2541 และขอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวซึ่งอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น หลังจากอนุญาโตตุลาการชี้ขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์ได้ส่งมอบแบบก่อสร้างจริงให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยก็ได้คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงโต้แย้งว่าแบบก่อสร้างจริงที่โจทก์ส่งมอบให้นั้นไม่ถูกต้องตรงกับที่ก่อสร้าง แม้โจทก์จะแก้ไขแล้วก็ไม่ยอมรับแบบอ้างว่าไม่มีเวลาตรวจสอบ แล้วไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้างตามที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ยตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาด
จำเลยยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างจำนวน 6,000,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์โจทก์และจำเลยมิได้ฎีกา ศาลชั้นต้นส่งถ้อยคำสำนวนให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
คดีนี้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2545 จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2545 โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2545 และให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว แต่ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ส่งถ้อยคำสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีผลใช้บังคับ การอุทธรณ์จึงต้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคท้าย ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 ส่วนมาตรา 2 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนที่ 39 ก. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2545 ดังนั้นพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30เมษายน 2545 คดีนี้จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 ฉะนั้นในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 จึงยังมีผลใช้บังคับแก่คดีนี้อยู่ แม้ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ส่งถ้อยคำสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาจะปรากฏว่าพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีผลใช้บังคับแล้วและตามบทบัญญัติเรื่องที่คู่ความจะอุทธรณ์ต่อศาลใดเป็นบทบัญญัติในเรื่องวิธีพิจารณา ซึ่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ตาม แต่เมื่อในขณะที่จำเลยยื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้นั้นคดียังอยู่ในระหว่างใช้บังคับตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 อยู่คดีจึงอยู่ในอำนาจที่ศาลอุทธรณ์จะต้องรับไว้พิจารณาพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีอุทธรณ์ของจำเลยจากสารบบความ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยโต้แย้งว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 26 (3) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 และมาตรา 45 (3) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และคดีได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ค่าจ้างแก่โจทก์ตรงตามคำชี้ขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายพิสิทธิ และนายพงษ์ประพาฬ พยานโจทก์ว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จะต้องส่งมอบแบบก่อสร้างอาคารให้แก่จำเลยภายในกำหนด 10 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ คือวันที่ 23 มกราคม 2541 ครบกำหนดส่งมอบแบบก่อสร้างอาคารแก่จำเลยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ได้ส่งมอบแบบก่อสร้างอาคารให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 แต่จำเลยคงกล่าวอ้างแต่เพียงว่าได้มีการโต้แย้งด้วยวาจาซึ่งเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้ส่งแบบก่อสร้างจริงที่ถูกต้องให้แก่จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเอกสารหมาย จ. 4 เป็นสัญญาที่คู่กรณีต่างต้องปฏิบัติตอบแทนต่อกันจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน ตามสัญญาข้อ 4 ระบุว่าหากโจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งมอบแบบก่อสร้างจริงให้แก่จำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนด จำเลยมีสิทธิที่จะระงับการจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาข้อ 1 ได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบแบบก่อสร้างจริงให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยย่อมต้องปฏิบัติตามสัญญาข้อ 1 กล่าวคือต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะระงับการจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์อีกต่อไปที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นศาลฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

Share