คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3115/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานของจำเลยตกลงกันได้ว่า จำเลยตกลงนำเงินค่าครองชีพเดือนละ 500 บาท ไปรวมกับเงินเดือนของพนักงานและพนักงานไม่ติดใจที่จะนำปัญหาการคิดคำนวณค่าล่วงเวลาย้อนหลังไปฟ้องร้องต่อไปอีก บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นจากการแจ้งข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานของจำเลยต่อจำเลย ผู้แทนทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อในบันทึกข้กตกลงที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้บันทึกไว้ แล้วคู่กรณีนำไปจดทะเบียนต่ออธิบดีกรมแรงงานจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นโดยชอบตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 มีผลใช้บังคับและผูกพันคู่กรณีรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลาค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด โดยนำค่าครองชีพไปรวมกับเงินเดือนเป็นฐานคำนวณย้อนหลัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่นำค่าครองชีพเดือนละ 500 บาท มารวมกับเงินเดือนเป็นฐานค่าจ้างคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้โจทก์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวในส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยและสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างกันตามที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2528 ว่าจำเลยจะนำค่าครองชีพจำนวน 500 บาทไปรวมกับเงินเดือนและพนักงานทุกคนไม่ติดใจจะนำปัญหาคิดคำนวณค่าล่วงเวลาย้อนหลังไปฟ้องร้องต่อไป โจทก์จึงต้องผูกพันไม่มีสิทธินำค่าครองชีพดังกล่าวไปคิดคำนวณย้อนหลัง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสี่สิบเอ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยรวมหลายข้อ ผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน ผลที่สุดโดยการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้จึงได้บันทึกข้อตกลงไว้ตามบันทึกฉบับลงวันที่ 4 ตุลาคม 2528 ซึ่งมีสาระสำคัญเฉพาะที่เกี่ยวกับค่าครองชีพอยู่ในข้อ 1 ว่า “บริษัทฯ (จำเลย) ตกลงนำเงินค่าครองชีพเดือนละ 500 บาทไปรวมกับเงินเดือนของพนักงานแต่ละคนที่มีสิทธิได้รับตามระเบียบเดิม และพนักงานไม่ติดใจที่จะนำปัญหาการคิดคำนวณค่าล่วงเวลาย้อนหลังไปฟ้องร้องต่อไปอีก” ศาลฎีกาเห็นว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นจากการแจ้งข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ต่อจำเลย แล้วผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันโดยมีพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานร่วมไกล่เกลี่ยด้วยทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ พนักงานประกอบข้อพิพาทแรงงานจึงได้บันทึกข้อตกลงไว้ให้ผู้แทนทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อแล้วคู่กรณีได้นำไปจดทะเบียนต่ออธิบดีกรมแรงงานโดยถูกต้องตามบทกฎหมาย จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นโดยชอบตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีผลใช้บังคับและผูกพันต่อคู่กรณีรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด โจทก์ทั้งหมดจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้อง

พิพากษายกฟ้อง

Share