คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 311/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์ปลูกอาคาร เมื่อครบกำหนดต้องรื้อไป ผู้เช่าอาคาร(ห้องแถว) ของจำเลยไม่ได้เช่าที่ดินของโจทก์ จึงเป็นการอาศัยสิทธิของจำเลยเท่านั้นและตกอยู่ในฐานะบริวารของจำเลยจะอ้างความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯและพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดินฯ ยันโจทก์ไม่ได้
กรณีสัญญาเช่าที่ดินครบกำหนดกับกรณีที่เลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด เป็นเรื่องทำนองเดียวกันคือผู้ให้เช่ามีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินที่ให้เช่าคืน (อ้างฎีกาที่337/2500)

ย่อยาว

จำเลยเช่าที่ดินโจทก์ปลูกสร้างอาคาร เมื่อครบกำหนดแล้วจะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปทั้งหมด จำเลยผิดสัญญาเช่าที่ดิน โจทก์จึงฟ้องขับไล่ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไป

จำเลยยอมออกไปและได้รื้อสิ่งปลูกสร้างอื่นไปหมดแล้ว คงเหลืออยู่แต่ห้องพิพาท 2 ห้องที่รื้อไม่ได้ เพราะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เช่าห้องจากจำเลยอยู่แต่เดิมไม่ยอมออก โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับ

ผู้ร้องโต้แย้งว่า เช่าห้องพิพาทโดยการรู้เห็นยินยอมของโจทก์ผู้ร้องจึงเป็นผู้เช่าช่วงจากโจทก์ มิใช่บริวารจำเลย ทั้งผู้ร้องเช่าเพื่ออยู่อาศัย ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน และพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504

ศาลแพ่งไต่สวนแล้ว สั่งให้ผู้ร้องออกจากห้องพิพาท

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกาว่า สัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยข้อ 7 มีข้อความว่า โจทก์ยอมให้จำเลยนำอาคารสิ่งปลูกสร้างไปให้เช่าได้ถือได้ว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำที่ดินไปให้เช่าช่วงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินจากโจทก์ก็เพื่อทำการปลูกสร้างอาคารให้เช่าหาประโยชน์ จึงได้ระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้ ส่วนการที่จำเลยจะนำอาคารให้ผู้ใดเช่าโจทก์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลยศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าห้องพิพาทไม่ได้เช่าที่ดินของโจทก์ เห็นได้ชัดว่าเป็นการอาศัยสิทธิของจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องมิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อโจทก์ ผู้ร้องตกอยู่ในฐานะบริวารของจำเลย และไม่มีสิทธิจะยกพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน และพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 มาใช้ยันโจทก์ เรื่องทำนองนี้ศาลฎีกาได้เคยพิพากษาไว้แล้วตามฎีกาที่ 337/2500 ที่ผู้ร้องอ้างว่าว่าคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวเป็นเรื่องสัญญาเช่าที่ดินครบกำหนดไปแล้ว ข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้นั้นศาลฎีกาเห็นว่ากรณีสัญญาเช่าครบกำหนดกับกรณีที่เลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด เป็นเรื่องทำนองเดียวกันคือ ผู้ให้เช่ามีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินที่ให้เช่าคืน คำพิพากษาคดีดังกล่าวย่อมนำมาเทียบเคียงกับคดีนี้ได้

พิพากษายืน

Share