แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 34,000 บาทเศษ และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในเงินต้น 30,000 บาท จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาเลย เจ้าพนักงานจึงต้องยึดที่ทั้งแปลงราคาประมาณ 100,000 บาท แม้ต่อมาจำเลยจะได้ผ่อนชำระหนี้ไปถึง 35,000 บาท หากจำเลยเห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดียึดสวนยางของจำเลยทั้งแปลงมากเกินความจำเป็น ก็ชอบที่จะร้องขอให้เจ้าพนักงานแบ่งยึดแต่พอควร หากจำเลยเห็นควรแบ่งขายให้พอดีกับหนี้สินที่ค้าง จำเลยก็น่าจะได้แถลงให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ ในวันขายจำเลยได้มอบให้ทนายความมาระวังผลประโยชน์ของจำเลย ทนายความมิได้ทักท้วงในเรื่องนี้ แสดงว่าทนายจำเลยก็เห็นชอบด้วย จะยกเป็นเหตุคัดค้านเมื่อขายทอดตลาดสำเร็จแล้วย่อมไม่ได้
ย่อยาว
คดีนี้ เนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษาท้ายยอมเป็นเงินสามหมื่นสี่พันบาทเศษ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสวนยางพารารับเบอร์ของจำเลย 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ราคาประมาณ 100,000 บาท เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้
เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายหลายครั้ง ครั้งที่ 4 ประกาศวันที่ 23 มกราคม 2501 วันที่ 21 มกราคม 2501 จำเลยนำเงิน 30,000บาท มาวางศาลเงินที่เหลือจะนำมาชำระภายใน 10 วัน ขอให้งดการขายทอดตลาด ศาลอนุญาต ครบ 10 วันจำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอให้ประกาศขายใหม่ พอเจ้าพนักงานประกาศขายครั้งที่ 6 วันที่ 22 กันยายน 2501 แต่ในวันที่ 18 กันยายน 2501 จำเลยก็วางเงินต่อศาลอีก 5,000 บาท ขอให้งดการขาย
ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดครั้งที่ 8วันที่ 12 มีนาคม 2506 มีผู้มาซื้อทอดตลาด 5 คน จำเลยไม่มาแต่ได้แต่งทนายมาแทน นายสุธีผู้ซื้อให้ราคาสูงสุด ราคา 55,000 บาททนายจำเลยค้านว่ามีผู้มาซื้อน้อยและราคาที่ให้ยังน้อยกว่าราคาจริงมาก ยังไม่ควรขาย เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าสวนยางถูกวาตภัยเสียหายมากสมควรขาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขาย
จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านขอให้สั่งขายใหม่ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าเป็นหนี้โจทก์เพียงสี่พันบาทเศษควรขายสวนยางของจำเลยเพียง 20 ไร่ก็พอกับหนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาถึงสามหมื่นสี่พันบาทเศษ และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 30,000 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาเลย โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสวนยางของจำเลยแม้จะมีเนื้อที่ถึง 120 ไร่ แต่ก็เป็นที่สวนแปลงเดียวกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องยึดทั้งแปลงและตีราคาประมาณ 100,000 บาท ซึ่งจะขายทอดตลาดได้ราคาตามที่ประมาณไว้นี้หรือไม่ก็ไม่เป็นการแน่นอน หากจำเลยเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสวนยางของจำเลยทั้งแปลงมากเกินความจำเป็นก็ชอบที่จะร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแบ่งยึดแต่พอควร แต่จำเลยก็เพิกเฉยจึงแสดงว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดสวนยางของจำเลยทั้งแปลงไม่มากเกินความจำเป็น แม้ในเวลาต่อมาจำเลยจะได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ไปถึง 35,000 บาท คงเหลือหนี้สินค้างชำระอีกประมาณ 10,000 บาทเศษ ก็ตามแต่จำเลยก็มิได้ขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้ให้หมดสิ้น ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้ผ่อนเวลาบังคับคดีให้จำเลยถึง 5-6 ปี ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ที่เหลือให้โจทก์ โจทก์จึงจำต้องขอให้ขายทอดตลาดสวนยางที่ยึดไว้หากจำเลยเห็นควรแบ่งขายให้พอดีกับหนี้สินที่ค้าง จำเลยก็น่าจะได้แถลงให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ ในวันขาย แม้จำเลยจะมาไม่ได้ แต่ก็ได้มอบให้นายมงคล รัตนวิจิตร ทนายความมาระวังรักษาผลประโยชน์ของจำเลยนายมงคลก็มิได้ทักท้วงในเรื่องนี้ กลับยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปทั้งแปลง แสดงว่านายมงคลก็เห็นชอบด้วย จะยกเป็นเหตุคัดค้านเมื่อการขายทอดตลาดได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วนั้นฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน