แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยขับรถไปตามทางการที่จ้างของโจทก์ด้วยความประมาท ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานอย่างหนึ่ง และในขณะเดียวกันก็เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยแม้จำเลยจะอ้างอายุความเรื่องละเมิด โดยมิได้กล่าวถึงอายุความเรื่องผิดสัญญาขึ้นมาต่อสู้คดีโจทก์ก็ตามแต่จำเลยก็ได้ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ว่าเพราะเหตุใดคดีโจทก์จึงขาดอายุความขึ้นมากล่าวไว้ในคำให้การด้วยแล้วว่า มูลหนี้คดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2523และโจทก์ได้รู้ถึงวันละเมิดอันหมายความถึงวันเกิดเหตุอันเป็นมูลก่อให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องและรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วตั้งแต่วันนั้น แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2536เมื่อนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องก็เป็นเวลาถึง 12 ปีเศษแล้วจึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือพ้นกำหนด10 ปีนับแต่วันทำละเมิด จากข้อเท็จจริงที่ว่านับแต่วันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน10 ปี อันเป็นอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วยดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้อ้างอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาต่อสู้ไว้แล้ว เมื่อคดีโจทก์เป็นทั้งเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดในขณะเดียวกันดังได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ศาลแรงงานจึงมีอำนาจที่จะยกอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาปรับแก่คดีโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ขณะที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2523จำเลยได้รับมอบหมายให้ขับรถยนต์โดยสารประจำทาง และจำเลยได้ขับรถคันดังกล่าวด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เฉี่ยวชนรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 77 คันหมายเลขทะเบียน10-1241 กรุงเทพมหานคร เสียหาย และทำให้ผู้โดยสารรถคันที่จำเลยขับได้รับบาดเจ็บ รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 11,500 บาทโจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแทนจำเลยไปแล้ว หลังเกิดเหตุจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ก่อนฟ้องโจทก์ได้หักค่าจ้างของจำเลยไว้2,400 บาท คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์9,100 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 9,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะมูลคดีนี้เป็น มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิด เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม2523 ซึ่งโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2536 เมื่อนับวันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลาถึง 12 ปีเศษแล้ว จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดแล้วตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะนำคดีมาฟ้องจำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทำผิดหน้าที่ บกพร่องต่อหน้าที่ อันเป็นฟ้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ปรากฏว่าจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2523จึงทำให้อายุความตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์สะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความ 10 ปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2523 จำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ แม้จะอ้างอายุความ มูลละเมิดแต่จำเลยก็อ้างมาด้วยว่าระยะเวลานับแต่วันทำ ละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา12 ปีเศษแล้ว ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ยกอายุความเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 แล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2536 เมื่อนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2523ถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานกลางยกเอาอายุความละเมิดมาวินิจฉัยว่าเป็นอายุความตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย คลาดเคลื่อนไปจากคำให้การของจำเลย เห็นว่าการที่จำเลยขับรถไปตามทางการที่จ้างของโจทก์ด้วยความประมาทถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานอย่างหนึ่งและในขณะเดียวกันก็เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย แม้จำเลยจะอ้างอายุความเรื่องละเมิด โดยมิได้กล่าวถึงอายุความเรื่องผิดสัญญาขึ้นมาต่อสู้คดีโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยก็ได้ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ว่าเพราะเหตุใดคดีโจทก์จึงขาดอายุความขึ้นมากล่าวไว้ในคำให้การด้วยแล้ว โดยกล่าวว่า มูลหนี้คดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2523และโจทก์ได้รู้ถึงวันละเมิดอันหมายความถึงวันเกิดเหตุอันเป็นมูลก่อให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง และรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วตั้งแต่วันนั้นแต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 19มกราคม 2536 เมื่อนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องก็เป็นเวลาถึง12 ปีเศษแล้ว จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันทำละเมิด จากข้อเท็จจริงที่ว่านับแต่วันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปีอันเป็นอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย ถือได้ว่าจำเลยได้อ้างอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาต่อสู้ไว้แล้วเมื่อคดีโจทก์เป็นทั้งเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดในขณะเดียวกันดังได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจที่จะยกอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาปรับแก่คดีโจทก์ได้
พิพากษายืน