คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1218/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3(พ.ศ. 2507) ออกตามความในข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 คำว่า’ลูกจ้างประจำ’ หมายถึงลูกจ้างซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้เป็นการประจำ ไม่ว่าค่าจ้างนั้นจะกำหนดเป็นรายเดือนรายสัปดาห์รายวันรายชั่วโมงรายระยะเวลาอย่างอื่น หรือกำหนดตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ โจทก์เป็นช่างเย็บ รับจ้างเย็บกางเกงสตรีอยู่ที่ร้านของจำเลยซึ่งเป็นร้านรับตัดเย็บเสื้อผ้าโจทก์มีเครื่องมือในการเย็บผ้า จำเลยมีจักรเย็บผ้าและผ้าให้เย็บ งานมีให้ทำเป็นประจำทุกวัน และโจทก์ได้ค่าจ้างเย็บเป็นรายตัว ซึ่งเป็นค่าจ้างที่กำหนดตามผลงานที่ทำได้ ทั้งจำเลยยังเลี้ยงอาหารโจทก์เป็นประจำอีกด้วย ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์มิได้อยู่กับจำเลยก็ไม่ทำให้เปลี่ยนจากลักษณะของการเป็นลูกจ้างประจำไปได้
จำเลยบอกลดค่าจ้างที่โจทก์เคยได้เป็นปกติ โจทก์ขอร้องให้จ่ายตามอัตราเดิม จำเลยไม่ยอม และกลับพูดว่าถ้าใครไม่ทำก็ให้เก็บของออกไป ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2507) ข้อ 2 ที่ว่าลดค่าจ้างปกติของลูกจ้างโดยมิได้รับความยินยอมจากลูกจ้างนั้นแล้ว
การที่ลูกจ้างฟ้องเรียกเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจากนายจ้างนั้น มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษในเรื่องอายุความ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ให้เป็นช่างฝีมือทำหน้าที่เย็บกางเกงได้ค่าจ้างเป็นรายวัน โดยได้ค่าเย็บกางเกงตัวละ15 บาท วันหนึ่ง ๆ เย็บได้ไม่ต่ำกว่า 4 ตัว ได้ค่าจ้างเฉลี่ยคนละ 60 บาทต่อวันเป็นอย่างน้อย และทุกคนเข้าทำงานเป็นลูกจ้างติดต่อกันมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ต่อมาจำเลยลดค่าจ้าง โจทก์ไม่ยอม จำเลยไล่โจทก์ออก การที่จำเลยลดค่าจ้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ถือว่า เป็นการเลิกจ้าง ต้องจ่ายเงินชดเชยแก่โจทก์คนละ 1,800 บาท ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินชดเชยแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินชดเชยแก่โจทก์ตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของร้านลอยเซนเตอร์ พวกโจทก์ทั้ง 12 คนเป็นช่างเย็บ รับจ้างเย็บกางเกงผู้หญิงอยู่ที่ร้านของจำเลย โดยได้ค่าจ้างตัวละ 15 บาท ต่อมาจำเลยลดค่าจ้างลงเหลือตัวละ 13 บาท โจทก์ไม่พอใจ จึงได้ไปร้องเรียนต่อกรมแรงงาน กรมแรงงานไกล่เกลี่ยสอบสวนแล้วมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยให้แก่พวกโจทก์คนละ 1,800 บาท รวม 12 คน เป็นเงิน 21,600 บาท จำเลยยังไม่จ่าย โจทก์จึงมาฟ้องขอให้ศาลบังคับคดีมีปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยเพราะจำเลยเลิกจ้างหรือไม่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2507) ออกตามความในข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 นั้น คำว่า “ลูกจ้างประจำ”หมายถึงลูกจ้างซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้เป็นการประจำ ไม่ว่าค่าจ้างนั้นจะกำหนดเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ รายวัน รายชั่วโมง รายระยะเวลาอย่างอื่น หรือกำหนดตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มีเครื่องมือในการเย็บผ้า จำเลยมีจักรเย็บผ้าและผ้าให้เย็บโจทก์ได้ค่าจ้างเป็นรายตัว และงานที่ทำมีประจำให้ทำทุกวัน ทั้งได้ค่าจ้างจากผลงานที่ลูกจ้างทำได้ด้วย ดังนี้ ถือได้แล้วว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้อยู่กับจำเลย ก็ไม่ทำให้เปลี่ยนจากลักษณะของการเป็นลูกจ้างประจำไปได้ เพราะงานมีทำเป็นประจำทุกวันและกำหนดค่าจ้างตามผลงานที่พวกโจทก์ทำได้คือตัวละ 15 บาท ทั้งจำเลยยังเป็นผู้เลี้ยงอาหารพวกโจทก์เป็นประจำอีกด้วย

ส่วนที่ฎีกาว่า การลดค่าจ้างยังอยู่ในระหว่างการทำความตกลงกันให้เป็นที่แน่นอนแต่พวกโจทก์กลับไปร้องเรียนต่อกรมแรงงานทันทีนั้นได้ความจากพยานโจทก์ว่า เมื่อจำเลยบอกลดค่าจ้างเย็บกางเกงผู้หญิงจาก 15 บาทลงเหลือ 13 บาทแล้ว ในวันรุ่งขึ้นพวกโจทก์มาทำงานตามปกติ เมื่อส่งงานค้างเก่าแล้วจำเลยจ่ายงานใหม่ให้ทำโดยติดราคาค่าจ้างมาบนผ้าที่จะให้เย็บนั้นเป็น 13 บาท พวกโจทก์ขอร้องให้จ่ายค่าจ้างอัตราเดิม แต่จำเลยไม่ยอม และบอกว่าถ้าใครไม่ทำก็เก็บของออกไปได้ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้าง ตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2507) ข้อ 2 ที่ว่าลดค่าจ้างปกติของลูกจ้างโดยมิได้รับความยินยอมจากลูกจ้างนั้นแล้ว

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าชดเชยให้โจทก์วันละ 60 บาท เท่ากันทุกคนยังไม่ถูกต้องนั้น ได้ความจากนายฮุ้งน้ำ แซ่เฮ้งพยานจำเลยเองว่าช่างเย็บเช่นพวกโจทก์นี้ มีรายได้อย่างต่ำวันละประมาณ 70 บาท ประกอบกับในเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องราวระหว่างพวกโจทก์กับจำเลยนี้ที่กรมแรงงาน ทั้งสองฝ่ายก็รับกันว่าวันหนึ่ง ๆ ลูกจ้างจะทำงานเย็บกางเกงได้ 4 ตัว คิดเป็นเงิน 60 บาทฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยคนละ 30 วันวันละ 60 บาท จึงเป็นการถูกต้องแล้ว

ปัญหาสุดท้ายคือเรื่องอายุความ ซึ่งจำเลยฎีกาว่าคดีนี้เป็นเรื่องละเมิด โจทก์มาฟ้องจำเลยเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์กับพวกถือว่าจำเลยไล่พวกโจทก์ออก คดีจึงขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยกับศาลล่างทั้งสองว่า การฟ้องเรียกร้องเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานนี้ มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษในเรื่องอายุความ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยชำระเงินชดเชยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง จึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ

พิพากษายืน

Share