คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีระเบียบการให้พนักงานออกจากงานเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์เป็นเพียงการกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ตกลงจ้างพนักงานโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ (ฉบับที่ 5)ข้อ 2 จะมีข้อความว่าการเลิกจ้างให้หมายความรวมทั้งกรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุตามกฎหมายด้วย แต่ต่อมาประกาศดังกล่าว (ฉบับที่ 6) ข้อ 2 ไม่มีข้อความนี้ก็ตาม ก็หาใช่เป็นเรื่องประกาศ (ฉบับที่ 6) มิได้ประสงค์ให้ถือว่าการที่ลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่
เมื่อจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงานทุกคนเป็นประจำเพราะเห็นว่าค่าจ้างไม่สมดุลย์กับภาวะการครองชีพ อันเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงานให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจึงถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้าง
จำเลยจ่ายค่ายังชีพภาคใต้ให้เฉพาะพนักงานใน 14 จังหวัดภาคใต้เท่านั้นเป็นการจ่ายโดยถือลักษณะของท้องที่ที่พนักงานเหล่านั้นประจำทำงานเป็นเกณฑ์ เมื่อพนักงานย้ายออกนอกเขต 14 จังหวัดดังกล่าวก็จะไม่ได้รับค่ายังชีพต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างอันจะนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วย
โจทก์มิได้เรียกร้องดอกเบี้ยในค่าชดเชยคงเรียกดอกเบี้ยจากค่าเสียหายเท่านั้น ที่ศาลแรงงานฯ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำได้รับเงินเดือน ค่าครองชีพและค่ายังชีพภาคใต้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย และใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราตามกฎหมายนับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า การจ้างโจทก์เป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างที่แน่นอนและการให้พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุมิใช่เป็นการเลิกจ้างตามเจตนารมณ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์และเมื่อจำเลยเลิกจ้างได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์แล้วซึ่งเป็นการจ่ายให้เพื่อตอบแทนช่วยเหลือโจทก์เมื่อออกจากงานมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชย เงินค่าครองชีพและค่ายังชีพภาคใต้มิใช่ค่าจ้างจำเลยไม่ได้ละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเรื่องละเมิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยจ้างโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาไว้แน่นอน เงินบำเหน็จไม่ใช่ค่าชดเชย โจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชย โจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยเงินค่าครองชีพและค่ายังชีพถือได้ว่าเป็นค่าจ้าง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ระเบียบการของจำเลยที่ว่าด้วยการแต่งตั้งและการถอนจากตำแหน่งพนักงานธนาคารออมสินและระเบียบการว่าด้วยการออกจากงานกรณีสูงอายุของพนักงานธนาคารออมสินที่ให้พนักงานพ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นเพียงการกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติอันเป็นผลให้นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานได้เท่านั้น การที่โจทก์ทราบว่าจะต้องเกษียณอายุเมื่อใดก็เป็นเพียงโจทก์อาจคาดหรือคำนวณได้ว่านับตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจนถึงเกษียณอายุเป็นเวลาเท่าใดเท่านั้นมิใช่เป็นข้อตกลงกันว่าจำเลยจะจ้างโจทก์เท่าระยะเวลาดังกล่าว ทั้งจำเลยไม่อยู่ในความผูกพันที่จะต้องจ้างโจทก์ตลอดเวลานั้น จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เสีย เมื่อใดก็ได้ก่อนที่โจทก์จะเกษียณอายุโดยไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน

ถึงแม้เดิมประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2521 ข้อ 2 จะมีข้อความว่า การเลิกจ้างให้หมายความรวมทั้งกรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุแต่ต่อมาประกาศดังกล่าว (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2ไม่ได้มีข้อความดังกำหนดไว้ใน (ฉบับที่ 5) ก็ตาม หาใช่เป็นเรื่องประกาศฯ(ฉบับที่ 6) มิได้ประสงค์ให้ถือว่าการที่ลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่ เพราะหากจะตัดข้อความนั้นออกก็ไม่ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไป ยังคงถือได้ว่าการที่ให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเป็นการเลิกจ้างอยู่

จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงานเป็นประจำเพราะเห็นว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่สมดุลย์กับภาวะการครองชีพ และเป็นการจ่ายให้แก่พนักงานมีลักษณะเป็นเงินตอบแทนการทำงานของพนักงานหรือลูกจ้างให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จึงถือได้ว่าครองชีพเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 ต้องนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วย

จำเลยจ่ายค่ายังชีพภาคใต้ให้เฉพาะพนักงานใน 14 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น เป็นการจ่ายโดยถือลักษณะของท้องที่ที่พนักงานเหล่านั้นประจำทำงานเป็นเกณฑ์ ถ้าพนักงานย้ายออกนอกเขต 14 จังหวัดดังกล่าวก็จะไม่ได้รับค่ายังชีพอีกต่อไป จึงมิใช่เป็นเงินที่จ่ายให้โดยมีลักษณะเป็นการตอบแทนการทำงาน ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างอันจะนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วยได้

โจทก์เรียกร้องเงินจากจำเลยเป็นค่าชดเชยและค่าเสียหายรวม 2 จำนวนด้วยกัน แต่โจทก์มิได้เรียกร้องดอกเบี้ยในค่าชดเชย คงเรียกดอกเบี้ยจากค่าเสียหายเท่านั้นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยโดยนำค่าจ้างและค่าครองชีพมาเป็นฐานในการคำนวณด้วยเท่านั้น คำขอนอกจากนี้ให้ยก

Share