คำวินิจฉัยที่ 94/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ที่ดินพิพาทไม่ใช่ป่าสงวนหรือที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ได้ให้จำเลยที่ ๒ ทำการรังวัดที่ดินทับที่ของโจทก์ จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยจำเลยที่ ๓ แต่งตั้งตัวแทนร่วมการรังวัด เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองที่ดิน การรังวัดปักหลักแนวเขตเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทโจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๔ /๒๕๕๗

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว)
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ นายขัน จินดาสวัสดิ์ โดยนายสงวน จินดาสวัสดิ์ ผู้รับมอบอำนาจ ที่ ๑ กับพวกรวม ๗ คน โจทก์ ยื่นฟ้อง นายอำเภอปัว ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่าน สาขาปัว ที่ ๒ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศิลาเพชร ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) เป็นคดีหมายเลข ดำที่ ๑๐๖/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ ๑ ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน ต่างได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาอย่างเป็นเจ้าของ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิ ที่ดินพิพาทไม่ใช่ป่าสงวนหรือที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๖ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ได้ให้จำเลยที่ ๒ นำช่างรังวัดสำนักงานที่ดินจังหวัดน่าน สาขาปัว ทำการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงสาธารณประโยชน์ (ห้วยสะโลก) ทับที่ของโจทก์ทั้งเจ็ด ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียสิทธิในการครอบครองที่ดิน โดยโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ทราบ จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดและไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและให้ระงับการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาท โดยแจ้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำทำการรังวัด ตลอดจนการระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขต โดยจำเลยที่ ๓ แต่งตั้งตัวแทนร่วมการรังวัด การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน การรังวัดปักหลักแนวเขตเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณา พิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่าที่พิพาท โจทก์ทั้งเจ็ดต่างได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมาไม่มีผู้ใดมาโต้แย้งสิทธิ จำเลยทั้งสามทำการรังวัดและเจตนาออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ของโจทก์ทั้งเจ็ด ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียสิทธิในการครอบครองที่ดิน และจำเลยทั้งสามมิได้กระทำการตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน คดีจึงมีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า เป็นของโจทก์ทั้งเจ็ดหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และจำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จำเลยทั้งสามจึงมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้การรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของจำเลยที่ ๒ จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาทางปกครองเพื่อนำไปสู่การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงอันเป็นคำสั่งทางปกครองก็ตาม แต่ขั้นตอนดังกล่าวก็เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง และหากการดำเนินการประกาศออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงส่งผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ทั้งเจ็ดก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองดังกล่าวของจำเลยทั้งสามหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย ตามคำฟ้องอ้างว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ต่างได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาอย่างเป็นเจ้าของ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิ ที่ดินพิพาทไม่ใช่ป่าสงวนหรือที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ได้ให้จำเลยที่ ๒ นำช่างรังวัดสำนักงานที่ดินจังหวัดน่าน สาขาปัว ทำการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงสาธารณประโยชน์ (ห้วยสะโลก) ทับที่ของโจทก์ทั้งเจ็ด ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียสิทธิในการครอบครองที่ดิน โดยโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ทราบ จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดและไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและให้ระงับการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาทโดยแจ้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำทำการรังวัด ตลอดจนการระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขต โดยจำเลยที่ ๓ แต่งตั้งตัวแทนร่วมการรังวัด การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน การรังวัดปักหลักแนวเขตเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งเจ็ดในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งเจ็ดได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายขัน จินดาสวัสดิ์ โดยนายสงวน จินดาสวัสดิ์ ผู้รับมอบอำนาจ ที่ ๑ กับพวกรวม ๗ คน โจทก์ นายอำเภอปัว ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่าน สาขาปัว ที่ ๒ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศิลาเพชร ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share