คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8654/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยอาศัยสิทธิของผู้ร้องสอดเองในฐานะเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ซึ่งมาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ร้องสอดที่เข้าเป็นคู่ความในคดีมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ดังนั้น แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ ก็หาเป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องสอดในการต่อสู้คดีของโจทก์ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 95 ตำบลโคกยาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความอ้างว่า ผู้ร้องสอดเป็นบุตรของนายเอกกับนางเอี่ยม ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 95 ซึ่งเป็นที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายเอกกับนางเอี่ยม นายเอกทำบันทึกข้อตกลงโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางเอี่ยมซึ่งเป็นคู่สมรส ดังนั้น ที่พิพาทส่วนที่เป็นสินสมรสของนางเอี่ยมกึ่งหนึ่งจึงไม่มีผลผูกพันตามบันทึกข้อตกลงและตามบันทึกข้อตกลงโจทก์มีหน้าที่จะต้องช่วยเหลือนายเอกให้มีที่ดินทำกินก่อน จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเอกจึงจะโอนสิทธิครอบครองที่พิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นสินสมรสของนายเอกให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงไม่จัดหาที่ดินทำกินให้ จำเลยจึงไม่ต้องโอนสิทธิครอบครองที่พิพาทให้แก่โจทก์ สำหรับที่พิพาทส่วนที่เป็นของนางเอี่ยม ต่อมานางเอี่ยมถึงแก่ความตายจึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดมายังผู้ร้องสอดในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางเอี่ยม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้โอนที่ดินส่วนที่เป็นสินสมรสของนางเอี่ยมได้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะนายเอกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 โจทก์ทราบเรื่องการตายของนายเอกมาตลอด แต่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบว่านายเอกถึงแก่ความตายแล้ว หากศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องสอดในฐานะทายาทของนางเอี่ยม ผู้ร้องสอดจึงร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดว่า นางเอี่ยมรู้เห็นยินยอมและอนุญาตโดยปริยายให้นายเอกทำข้อตกลงโอนที่พิพาทแทนตนตลอดมา เริ่มตั้งแต่ปี 2529 เมื่อนายเอกรับเงินไปจากหัวหน้าสวนป่าคลองท่อม 15,000 บาท ก็นำเงินไปใช้จ่ายในครอบครัวและเมื่อปี 2536 ที่ทำบันทึกข้อตกลงตามฟ้องกัน ผู้ร้องสอดก็อยู่ร่วมรับรู้ในเหตุการณ์ด้วยเพราะได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ว่านายเอกถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ขอให้ยกคำร้องสอด
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแก้คำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 95 ตำบลโคกยาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ยกคำร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยและผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 ประกอบพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ.2499 ขณะโจทก์ยื่นฟ้องมีนายมนูญศักดิ์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในกิจการทั่วไปและกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก นายเอกและนางเอี่ยมเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกัน จำเลยและผู้ร้องสอดเป็นบุตรของนายเอกและนางเอี่ยม ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 95 ซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้เป็นสินสมรสของนายเอกและนางเอี่ยม แต่มีชื่อนายเอกเป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง พนักงานเจ้าหน้าที่ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2521 โดยมีเงื่อนไขห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ปี 2527 โจทก์ได้รับสัมปทานจากกรมป่าไม้ให้เข้าไปปลูกสวนป่าในที่ดินละแวกที่พิพาทซึ่งมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม โจทก์จึงเข้าไปแผ้วถาง ปลูกป่าในละแวกที่พิพาทครอบคลุมทับที่พิพาททั้งแปลงจนแล้วเสร็จ ปี 2529 นายเอกขอที่พิพาทคืน โจทก์เสนอจ่ายเงินชดเชย 15,000 บาท ให้แก่นายเอกแทนการคืนที่พิพาทให้และจะหาที่ดินทำกินแห่งใหม่ให้นายเอกแทนที่พิพาท นายเอกตกลงพร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 95 ให้แก่โจทก์ และรับเงิน 15,000 บาท จากโจทก์ไปแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่พิพาทให้แก่โจทก์ จนกระทั่งโจทก์กับนายเอกทำบันทึกข้อตกลงกันใหม่ว่า โจทก์ตกลงจ่ายเงินชดเชยให้แก่นายเอกเพิ่มอีก 40,000 บาท และนายเอกจะโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์โดยนายเอกได้รับเงิน 40,000 บาท ไปแล้วตามบันทึกข้อตกลง รวมเงินชดเชยที่นายเอกรับไปแล้วทั้งสิ้น 55,000 บาท โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทตามคำขอฉบับที่ 270/2540 นางเอี่ยมยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทตามคำขอฉบับที่ 2763/2540 และโจทก์ยื่นคำขอยกเลิกการจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาท นางเอี่ยมถึงแก่ความตาย ต่อมานายเอกถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเอก จำเลยจดทะเบียนรับโอนที่พิพาทมาเป็นของตนเองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเอกและโจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเอกไปจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงที่นายเอกทำไว้กับโจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ จึงมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ระหว่างพิจารณาผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) อ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเอกและนางเอี่ยม ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของนายเอกกับนางเอี่ยม นายเอกทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางเอี่ยมคู่สมรส นางเอี่ยมถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องสอดเป็นทายาทโดยธรรมของนางเอี่ยม หากศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งหมด ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องสอดจึงเป็นการจำเป็นที่ผู้ร้องสอดจะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่และผู้ร้องสอดยังกล่าวอ้างในคำร้องสอดด้วยว่า โจทก์ผิดข้อตกลงกับนายเอกโดยมิได้จัดหาที่ดินทำกินให้แก่นายเอกตามข้อตกลงและโจทก์รู้ถึงความตายของนายเอกแล้ว แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องนายเอกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ได้รู้ถึงความตายของนายเอก คดีเป็นอันขาดอายุความ
สำหรับฎีกาของจำเลยในประเด็นที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า คดีขาดอายุความแล้วก็ดี นางเอี่ยมรู้เห็นหรือยินยอมให้นายเอกทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ก็ดีและโจทก์ไม่จัดหาที่ดินทำกินให้แก่นายเอกตามข้อตกลงก็ดี เมื่อปรากฏว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าวได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนฎีกาของผู้ร้องสอดในประเด็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยอาศัยสิทธิของผู้ร้องสอดเองในฐานะเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ซึ่งมาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ร้องสอดที่เข้าเป็นคู่ความในคดีมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ดังนั้น แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ ก็หาเป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องสอดในการที่จะให้การต่อสู้คดีของโจทก์ไม่ แต่คำให้การต่อสู้คดีของผู้ร้องสอดก็มีขอบเขตจำกัดเพียงตามสิทธิของผู้ร้องสอดในฐานะทายาทของผู้มีสิทธิรับมรดกของนางเอี่ยมเท่านั้น ผู้ร้องสอดหามีสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ของจำเลยขึ้นให้การต่อสู้คดีกับโจทก์ไม่ ตามคำร้องสอดสิทธิของผู้ร้องสอดในฐานะทายาทโดยธรรมของนางเอี่ยมที่ถูกกระทบกระเทือนซึ่งผู้ร้องสอดจำเป็นให้ได้รับการรับรองคุ้มครอง คงมีเพียงตามที่ผู้ร้องสอดให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของนายเอกกับนางเอี่ยม และนายเอกทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางเอี่ยมเท่านั้น ส่วนที่ผู้ร้องสอดให้การต่อสู้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงโดยไม่จัดหาที่ดินทำกินให้แก่นายเอกและคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว นั้น ล้วนเป็นข้อต่อสู้ที่อาศัยสิทธิของนายเอกซึ่งเป็นสิทธิที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเอกจะต้องเป็นผู้ที่จะหยิบยกขึ้นให้การต่อสู้คดีโจทก์ทั้งสิ้น ผู้ร้องสอดไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกประเด็นข้อต่อสู้ทั้งสองประการดังกล่าวขึ้นให้การต่อสู้คดีของโจทก์ได้ เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นพิพาทเรื่องอายุความมรดก ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดก และศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความมรดก จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นมาว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฎีกาของผู้ร้องสอดในประเด็นที่โต้แย้งว่า คดีขาดอายุความมรดก จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ฎีกาของผู้ร้องสอดว่า โจทก์ไม่จัดหาที่ทำกินให้แก่นายเอกตามข้อตกลงนั้น เห็นว่า ประเด็นตามฎีกาของผู้ร้องสอดในข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เป็นข้อกล่าวอ้างโดยอาศัยสิทธิของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเอี่ยม ผู้ร้องสอดไม่ได้กล่าวอ้างโดยอาศัยสิทธิของตนเองในฐานะทายาทของผู้มีสิทธิรับมรดกของนางเอี่ยม เพราะหากศาลวินิจฉัยประเด็นนี้ว่า โจทก์ผิดข้อตกลงไม่จัดหาที่ดินทำกินให้นายเอกแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากคำวินิจฉัยในประเด็นนี้คือจำเลยมิใช่ผู้ร้องสอด กรณีจึงมิใช่เป็นเหตุที่ผู้ร้องสอดจะอ้างเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะรับคำร้องสอดส่วนนี้เข้ามาด้วยก็ไม่เป็นเหตุให้ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องสอดในข้อนี้ชอบด้วยมาตรา 57 (1) ดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งจำเลยก็ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทำผิดข้อตกลงไม่จัดหาที่ดินทำกินให้แก่นายเอกหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยให้ ผู้ร้องสอดหาได้ฎีกาโต้แย้งว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างไร แต่ยังคงฎีกาคัดค้านว่า การที่โจทก์ไม่จัดหาที่ดินทำกินให้แก่นายเอกตามข้อตกลง โจทก์จึงเป็นฝ่ายที่ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและไม่เหมาะสมที่หน่วยงานของรัฐจะปฏิบัติต่อประชาชนเช่นนี้ ทั้งบันทึกข้อตกลงเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ย่อมจะบังคับให้นายเอกปฏิบัติตามสัญญาหาได้ไม่ ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องสอดจึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ขึ้นกล่าวไว้โดยชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ประเด็นที่จำเลยและผู้ร้องสอดฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงทำขึ้นโดยผิดเงื่อนไขห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ตกเป็นโมฆะ และประเด็นตามฎีกาของผู้ร้องสอดที่ฎีกาคัดค้านว่า นางเอี่ยมมิได้รู้เห็นยินยอมหรืออนุญาตโดยปริยายให้นายเอกทำข้อตกลงโอนที่พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ประเด็นทั้งสองข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาชอบด้วยเหตุผลแล้วและไม่มีเหตุต้องเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
พิพากษายกฎีกาของจำเลยและผู้ร้องสอด คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลยและผู้ร้องสอดทั้งหมด

Share