แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 อ้างเหตุผลในคำฟ้องว่า การเข้าตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยไม่ชอบ การที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชี้ขาดให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในแต่ละปี โดยคำนวณจากค่าเช่าช่วงและผลประโยชน์อย่างอื่นที่ผู้เช่าช่วงต้องชำระ แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับนั้นไม่ถูกต้อง จำเลยเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินมากเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนด ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดให้จำเลยคืนเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่เรียกเก็บเกินไปคืนแก่โจทก์ที่ 1 ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ไม่พอใจคำชี้ขาด เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควรตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์ที่ 1 ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาด การที่โจทก์ที่ 1 มิได้นำเรื่องคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน จึงเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาเช่า โจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน แต่เนื่องจากทรัพย์สินที่พิพาทเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเห็นว่า จำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินและคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ให้โจทก์ที่ 1 เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสูงเกินสมควร เมื่อโจทก์ที่ 1 มิได้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปี โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกับโจทก์ที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปีภาษี 2545 ถึง 2550 และคำชี้ขาดให้จำเลยคืนเงินจำนวน 69,379,205.72 บาท แก่โจทก์ที่ 1
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นเจ้าของอาคารรวมถึงสิ่งปลูกสร้างในโครงการจตุจักรพลาซ่า ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 2 เข้าดำเนินการหาผลประโยชน์มีระยะเวลาเช่า 10 ปี โดยโจทก์ที่ 2 มีหน้าที่ตามสัญญาต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับอาคารและสิ่งปลูกสร้างแทนโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) สำหรับทรัพย์สินดังกล่าวประจำปีภาษี 2545 ถึง 2550 ทุกปี ต่อมาจำเลยแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปีภาษี 2545 โดยกำหนดค่ารายปี 65,586,479.95 บาท (หักลด 28,108,490.54 บาท) ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 3,513,561.32 บาท ประจำปีภาษี 2546 ถึง 2550 ค่ารายปีปีละ 112,433,962.20 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปีละ 14,054,245.28 บาท โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีคำชี้ขาดสำหรับประจำปีภาษี 2545 โดยกำหนดค่ารายปี 27,209,018.25 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 3,401,127.28 บาท ประจำปีภาษี 2546 ถึง 2548 กำหนดค่ารายปีปีละ 108,836,073 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปีละ 13,604,509.13 บาท ประจำปีภาษี 2549 และ 2550 กำหนดค่ารายปีปีละ 112,433,962.20 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปีละ 14,054,254.28 บาท โจทก์ที่ 1 ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามคำชี้ขาดแล้ว
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ในข้อนี้ว่า การประเมินเพื่อกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตลอดจนคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องว่า จำเลยประเมินค่ารายปีเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินสมควร โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้รับประเมินผู้ใดไม่พอใจในคำชี้ขาดจะนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่า การประเมินนั้นไม่ถูกก็ได้ แต่ต้องทำภายในสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดและวรรคท้าย บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจในคำชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้น มีจำนวนที่สูงเกินสมควร ให้รัฐวิสาหกิจนั้นนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 ในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ตามที่เห็นสมควรมติของคณะรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ผู้รับประเมินเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 การที่โจทก์ที่ 1 ไม่พอใจคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ชี้ขาดให้โจทก์ที่ 1 ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาท เนื่องจากโจทก์ที่ 1 เห็นว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีจำนวนสูงมากเกินความเป็นจริงจากที่โจทก์ที่ 1 ได้รับจริงจากการให้เช่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างโครงการจตุจักรพลาซ่า โดยโจทก์ที่ 1 ขอเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามจำนวนเงินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่ระบุไว้ในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 อ้างเหตุผลในคำฟ้องว่า การเข้าทำการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยไม่ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทั้งสองทราบล่วงหน้าก่อนเข้าทำการตรวจสอบและเป็นการตรวจสอบในปี 2549 ย้อนหลังไปถึงปี 2544 ซึ่งโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 การค้าขายยังไม่มากเหมือนในปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเข้าไปตรวจสอบและห้องเช่าเพิ่งมีผู้เช่าเต็มในปี 2548 อีกทั้งการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชี้ขาดให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในแต่ละปีโดยคำนวณจากค่าเช่าช่วงและผลประโยชน์อย่างอื่น (ค่าเซ้ง) ที่ผู้เช่าช่วงต้องชำระ แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับเงินค่าเช่าช่วงหรือผลประโยชน์ นอกจากนี้การที่จำเลยคิดค่ารายปีกับโจทก์ที่ 1 จากจำนวนค่าเช่าช่วงทุกห้องไม่ตรงต่อความเป็นจริง เมื่อจำเลยเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินมากเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดและบันทึกสั่งการของจำเลย เลขที่ กท. 7000/1710 จึงขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดให้จำเลยคืนเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่เรียกเก็บเกินไปคืนแก่โจทก์ที่ 1 ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่า จำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร อันเป็นการประเมินไม่ถูกต้องตามความในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์ที่ 1 จึงต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามบทบัญญัติดังกล่าวก่อน แม้กรณีของโจทก์ที่ 1 จะเป็นการประเมินค่ารายปีจากทรัพย์สินที่มิได้เกิดจากการประกอบกิจการของโจทก์ที่ 1 โดยตรง แต่เป็นการประเมินค่ารายปีจากทรัพย์สินที่โจทก์ที่ 1 ให้บุคคลภายนอกหาประโยชน์ก็ตาม ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1 มิได้นำเรื่องคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ชี้ขาดให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก่อน จึงเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า โจทก์ที่ 2 มีส่วนได้เสียในคดีนี้เพราะมีหน้าที่ตามสัญญาต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนโจทก์ที่ 1 หากจำเลยประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินผิดไปจากที่กฎหมายกำหนด โจทก์ที่ 2 ย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาเช่าโครงการจตุจักรพลาซ่าของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินก็ตาม แต่เนื่องจากทรัพย์สินที่พิพาทในคดีนี้เป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเห็นว่า จำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินและคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ให้โจทก์ที่ 1 เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสูงเกินสมควร เมื่อโจทก์ที่ 1 มิได้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามบทบัญญัติดังกล่าวเสียก่อน โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกับโจทก์ที่ 1 ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ