แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๙ โจทก์ยื่นคำร้องขอรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อปักหลักเขตที่ดินใหม่ให้ถูกต้อง แต่ถูกจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ คัดค้านการรังวัดสอบเขต โดยอ้างว่าโจทก์รังวัดสอบเขตรุกล้ำคลองบางประมุง ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดิน เพื่อปักหลักเขตที่ดินได้ เป็นการกระทำละเมิดโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของคลองบางประมุง อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ดูแล ระวังแนวเขต และคัดค้านการครอบครองสิทธิในที่ดินดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๐/๒๕๕๘
วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดนครสวรรค์
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครสวรรค์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายศิลป์ คำเอม ที่ ๑ นางประยูร คำเอม ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง ว่าที่ร้อยตรีปรีชา พลับน้อย ในฐานะนายอำเภอโกรกพระ ที่ ๑ นายอดิเทพ ธัญญกสิกล ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลบางประมุง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๑๖/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๙ ตำบลบางประมุง อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ โดยซื้อที่ดินมาจากเจ้าของเดิมเมื่อปี ๒๕๓๓ และเข้าทำประโยชน์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อปักหลักเขตที่ดินใหม่ให้ถูกต้อง แต่ถูกจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ คัดค้านการรังวัดสอบเขต โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองรังวัดสอบเขตรุกล้ำคลองบางประมุง ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อปักหลักเขตที่ดินได้ เป็นการกระทำละเมิด โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านการรังวัด หากไม่ปฏิบัติตาม ขอถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของคลองบางประมุง อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ดูแล ระวังแนวเขตและคัดค้านการครอบครองสิทธิในที่ดินดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองหากก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ก็เป็นเรื่องการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำบังคับได้ตามกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ที่ดินบริเวณพิพาทคู่กรณีทั้งสองฝ่ายยังโต้แย้งกันว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากัน ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความยุติในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองอันเป็นที่ดินของเอกชนหรือเป็นแนวเขตคลองสาธารณประโยชน์อันเป็นสมบัติของแผ่นดินซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสองได้ว่า กระทำเมื่อปี ๒๕๓๓ ละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้หรือไม่ การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่า ผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากันย่อมอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งได้คัดค้านการรังวัดสอบเขต โดยจำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์ทั้งสองรังวัดสอบเขตรุกล้ำคลองบางประมุง (คลองสาธารณะ) เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจดำเนินการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเพื่อปักหลักเขตที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ ไม่ใช่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่สาธารณประโยชน์ และเป็นกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน กรณีจึงเป็นการฟ้องว่าการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลยทั้งสองในการรักษาที่สาธารณประโยชน์ไว้เพื่อส่วนรวม เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๙ โดยซื้อที่ดินมาจากเจ้าของเดิมเมื่อปี ๒๕๓๓ และเข้าทำประโยชน์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อปักหลักเขตที่ดินใหม่ให้ถูกต้อง แต่ถูกจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ คัดค้านการรังวัดสอบเขต โดยอ้างว่า โจทก์ทั้งสองรังวัดสอบเขตรุกล้ำคลองบางประมุง ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อปักหลักเขตที่ดินได้ เป็นการกระทำละเมิดโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านการรังวัด จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของคลองบางประมุง อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ดูแล ระวังแนวเขต และคัดค้านการครอบครองสิทธิในที่ดินดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งสองในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินส่วนที่พิพาทโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายศิลป์ คำเอม ที่ ๑ นางประยูร คำเอม ที่ ๒ โจทก์ ว่าที่ร้อยตรี ปรีชา พลับน้อย ในฐานะนายอำเภอโกรกพระ ที่ ๑ นายอดิเทพ ธัญญกสิกล ในฐานะนายกเทศมนตรี ตำบลบางประมุง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ