คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3096/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ฟังว่า ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายไปสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ปรากฏว่าผู้เข้าสู้ราคาสมคบกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อกดราคาทรัพย์ที่ขายโดยไม่สุจริต และเจ้าพนักงานบังคับคดี มิได้ทำผิดหน้าที่ในการขายทอดตลาดนั้นผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องอีกว่าการขายทอดตลาดไม่ชอบถือว่าจำเลยทั้งหกมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์และไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1343 ตำบลทับเที่ยงอำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งโจทก์เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งของศาลจังหวัดตรัง โดยไม่สุจริต จงใจสมคบกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 รีบขายที่ดินไปในราคา 6,500,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงตามราคาตลาดตามที่โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการขายทอดตลาดไว้แล้ว จำเลยที่ 2และที่ 3 ย่อมทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวควรจะขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 10,500,000บาท ทำให้โจทก์เสียหายต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้ 4,000,000 บาท จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์ไปตามขั้นตอนตามระเบียบคำสั่งอันได้กำหนดไว้เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจนศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 3)ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ขายทอดตลาดโดยสุจริตมิได้สมคบกับจำเลยที่ 4ถึงที่ 6 จึงมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดจึงผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ฟ้องคดีละเมิดเกิน 1 ปี นับแต่วันขายทอดตลาดจึงขาดอายุความแล้วการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2539 ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เข้าร่วมประมูลในการขายทอดตลาดโดยสุจริตและเปิดเผย ราคาที่ขายได้เป็นราคาตลาดและสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์แถลงต่อศาลจังหวัดตรังว่าไม่ติดใจให้ศาลฎีกาไกล่เกลี่ย ให้โอนขายที่ดินแก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ สิทธิของโจทก์มิได้ถูกโต้แย้ง โจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยมูลละเมิดเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ชั้นชี้สองสถาน โจทก์และจำเลยทั้งหกแถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่า มูลละเมิดคดีนี้สืบเนื่องจากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1343 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ในคดีหมายแพ่งเลขแดงที่ 765/2534 ของศาลจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536 ทำให้โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ และรับว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดดังกล่าวต่อศาลจังหวัดตรัง ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3499/2538 ระหว่าง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์นายไพบูลย์ หิรัญมุทราภรณ์ จำเลย โจทก์ได้ทราบคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2539 และจำเลยทั้งหกยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า เนื่องจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว ซึ่งโจทก์เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์และคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2540 และคำร้องของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดชี้สองสถาน งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งหก

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้แม้คู่ความทั้งสองฝ่ายจะมิได้ฎีกาขึ้นมาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1343 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 765/2534 ของศาลจังหวัดตรังในคดีดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าขายได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาพิพากษายืน ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3499/2538 ระหว่าง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์ นายไพบูลย์ หิรัญมุทราภรณ์จำเลย โดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายไปสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าพนักงานบังคับคดี ในการประมูลเพื่อสู้ราคาไม่ปรากฏว่าผู้เข้าสู้ราคาสมคบกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อกดราคาทรัพย์ที่ขายโดยไม่สุจริต และไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีทำผิดหน้าที่ในการขายทอดตลาดแต่ประการใด คำพิพากษาศาลฎีกาจึงผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โจทก์ฟ้องคดีนี้อ้างว่าการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีสมคบกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้เข้าสู้ราคาขายทอดตลาดทรัพย์โดยไม่สุจริต ต่ำกว่าราคาในท้องตลาด ซึ่งเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนหาได้ไม่ และเมื่อศาลฎีกาพิพากษาว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวกระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถือได้ว่าจำเลยทั้งหกมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ส่วนฎีกาของโจทก์ประเด็นข้ออื่น ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share