คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1161/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยจับแขนผู้เสียหายพูดว่า มาทางนี้เดี๋ยว เอาเงินมา ผู้เสียหายตอบว่าไม่มี จำเลยก็ชักอาวุธมีดคัทเตอร์มาจี้ผู้เสียหายผู้เสียหายสลัดหลุดวิ่งไปหา ส. จำเลยก็ตามไปพร้อมกับพูดว่า จะหนีไปไหน ผู้เสียหายกลัวจึงบอก ส. ให้มอบเงินแก่จำเลยไป แสดงว่าจำเลยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย ด้วยการทำร้ายร่างกาย และให้ผู้เสียหายส่งเงินให้จำเลยในขณะนั้น การกระทำ ของจำเลย จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ใช่กรรโชก เนื่องจากมิใช่เป็นการขู่ ว่าจะทำร้ายผู้เสียหายและให้ส่งเงินแก่จำเลยในภายหลัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 371และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 50 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 335(1)(7), 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธจำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธมีดไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี และปรับ 50 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 50 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 วรรคสอง(2) กระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี ปรับ 5,000 บาท และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกกระทงหนึ่ง ปรับ 100 บาท รวมสองกระทงเป็นจำคุก 1 ปี ปรับ 5,100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 2,550 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติประจำศาลชั้นต้นทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์โดยคู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านว่า คืนเกิดเหตุขณะที่นายประดับ ปุรินันท์ ผู้เสียหายและนางสุพิศ ยาสี ภรรยาเดินกลับที่พักมาตามถนนซอยดำรง 3 แขวงบางแคเขตบางแค กรุงเทพมหานคร จำเลยใช้อาวุธมีดคัทเตอร์ขู่เข็ญผู้เสียหายเอาเงินไป50 บาท โดยจำเลยเข้าไปจับแขนผู้เสียหายและพูดว่า “มาทางนี้เดี๋ยว เอาเงินมา”เมื่อผู้เสียหายตอบว่าไม่มี จำเลยได้ชักอาวุธมีดคัทเตอร์ออกมาจี้ที่เอวผู้เสียหายด้านขวา ผู้เสียหายสลัดหลุดจากจำเลยวิ่งไปหานางสุพิศซึ่งอยู่ห่างประมาณ 5 เมตร จำเลยเดินตามผู้เสียหายไปพร้อมกับพูดว่า “จะหนีไปไหน ผมอยู่ซอยนี้” ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะทำร้ายจึงบอกให้นางสุพิศเอาเงินจำนวนดังกล่าวส่งให้จำเลยไป ได้เงินแล้วจำเลยก็หลบหนีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยเข้าไปจับแขนผู้เสียหายพูดว่า มาทางนี้เดี๋ยว เอาเงินมา เมื่อผู้เสียหายตอบว่าไม่มี จำเลยก็ชักอาวุธมีดคัทเตอร์ออกมาจี้ผู้เสียหายครั้นผู้เสียหายสลัดหลุดวิ่งไปหานางสุพิศจำเลยก็ตามไปพร้อมกับพูดว่าจะหนีไปไหนแสดงว่าจำเลยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายด้วยการทำร้ายร่างกาย และให้ผู้เสียหายส่งเงินให้จำเลยในขณะนั้น เพราะหากจำเลยต้องการให้ผู้เสียหายส่งเงินให้จำเลยในภายหลัง เมื่อผู้เสียหายตอบว่าไม่มีอันเป็นการปฏิเสธว่าขณะนั้นผู้เสียหายไม่สามารถจะส่งเงินให้จำเลยได้ จำเลยก็คงจะไม่ชักอาวุธมีดคัทเตอร์ออกมาจี้ผู้เสียหายอันเป็นการสำทับให้เห็นว่า ถ้าผู้เสียหายไม่ส่งเงินให้จำเลยจะถูกจำเลยทำร้าย และหากจำเลยเพียงแต่ขู่ว่าจะทำร้ายผู้เสียหายในภายหลัง เมื่อผู้เสียหายสลัดหลุดวิ่งไปหานางสุพิส จำเลยก็คงจะไม่ติดตามไปพูดกับผู้เสียหายว่าจะหนีไปไหน จนกระทั่งได้เงินแล้วจำเลยจึงได้หลบหนี การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ใช่กรรโชกดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง ความผิดที่จำเลยกระทำฐานนี้มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 15 ปีและปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 30,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษให้มีกำหนด 10 ปี เป็นการลงโทษขั้นต่ำที่สุดอยู่แล้ว ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เบากว่านั้นตามที่จำเลยขอมาในคำแก้ฎีกาได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share