คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2177/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1195 บัญญัติว่า “การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย…” เมื่อโจทก์เห็นว่ามติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุดไม่ชอบ โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท โจทก์อาจฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์เพื่อให้บังคับตามสิทธินั้นเป็นคดีมีข้อพิพาทก็ได้ คดีนี้ โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองเรียกประชุม ได้ประชุมกันและจัดให้มีการลงมติโดยฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่ แต่ในคำขอบังคับท้ายฟ้องขอเพียงให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ที่ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่และที่แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการซึ่งเป็นมติมิชอบเสีย แล้วให้โจทก์เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่ต่อไป แม้ฟังได้ตามฟ้อง จำเลยทั้งสองก็ไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาได้เพราะจะต้องบังคับเอาแก่นิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่ซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรงเท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่มาด้วย กรณีจึงไม่มีบุคคลที่อาจต้องรับผิดตามคำขอของโจทก์มาในฟ้อง ทั้งไม่อาจแปลคำฟ้องว่าเป็นการร้องขอให้บังคับนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่ด้วยเพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ฐานกระทำละเมิด ฟ้องโจทก์ไม่อาจบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมครั้งที่ 1 วันที่ 18 กันยายน 2548 และครั้งที่ 2 วันที่ 25 กันยายน 2548 ของนิติบุคคลอาคารชุด และให้โจทก์คงเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยาน และพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการประชุมใหญ่ แต่มิได้กล่าวถึงการเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่จึงต้องเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยแก่คดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1195 ที่บัญญัติว่า “การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย…” เมื่อโจทก์เห็นว่ามติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุดไม่ชอบ โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท อย่างไรก็ตามไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ยื่นฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาท โจทก์อาจฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์เพื่อให้บังคับตามสิทธินั้นเป็นคดีมีข้อพิพาทก็ได้ คดีนี้ โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองเรียกประชุม ได้ประชุมกัน และจัดให้มีการลงมติโดยฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่ แต่ในคำขอบังคับท้ายฟ้องขอเพียงให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ที่ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่และที่แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการซึ่งเป็นมติมิชอบเสีย แล้วให้โจทก์เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่ต่อไป แม้ฟังได้ตามฟ้อง จำเลยทั้งสองก็ไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาได้เพราะจะต้องบังคับเอาแก่นิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่ซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรงเท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่มาด้วย กรณีจึงไม่มีบุคคลที่อาจต้องรับผิดตามคำขอของโจทก์มาในฟ้อง ทั้งไม่อาจแปลคำฟ้องว่าเป็นการร้องขอให้บังคับนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่ด้วย เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นอกจากนั้นโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ฐานกระทำละเมิด ฟ้องโจทก์ไม่อาจบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share