แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การส่งหนังสือทวงหนี้ไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีธรรมดาเพราะไปไม่พบผู้ร้อง คนในบ้านว่าย้ายไปแล้ว และนายทะเบียนท้องถิ่นว่าไม่มีชื่อผู้ร้องในบ้าน ต้องส่งโดยวิธีอื่นแทน คือส่งไปประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์รายวัน ถือได้ว่าเป็นการลงโฆษณาตามความหมายของ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 79 แล้ว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง มีผลให้ผู้ร้องเสียหายเพราะไม่ได้รับการพิจารณา หรือสอบสวนใหม่ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 146 ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลา14 วัน นับแต่วันที่ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ให้ผู้ร้องชำระหนี้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่สั่งให้ผู้ร้องชำระหนี้และไม่กำหนดค่าทนายความให้ ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า หลังจากศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทสหวิศวบูรพา จำกัด จำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจเอกสารที่ได้รับจากสำนักงานห้างหุ้นส่วนบริษัทกลาง พบว่าผู้ร้องเป็นกรรมการบริษัทจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2510 และถือหุ้นอยู่จำนวน 500 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ชำระแล้วหุ้นละ 600 บาท คงค้างอยู่หุ้นละ 400 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท ตามหลักฐานที่ปรากฏในคำขอจดทะเบียนบริษัท และบัญชีผู้ถือหุ้น ผู้ร้องมีภูมีลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 67 ถนนนครไชยศรี อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีหนังสือทวงหนี้ส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้ร้องดังกล่าวข้างต้น แต่ส่งไม่ได้ ไม่พบผู้ร้อง คนในบ้านแจ้งว่าย้ายไปแล้ว เมื่อสอบถามไปยังนายทะเบียนเขตดุสิต ได้รับตอบว่าไม่มีชื่อผู้ร้องในบ้านดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงประกาศทวงหนี้ทางหนังสือพิมพ์ชาวไทยในวันที่ 20 ถึง 22 กรกฎาคม 2516 รวม 3 วัน ผู้ร้องมิได้ชำระหนี้มิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนด จึงถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2522 ผู้ร้องไปที่กรมบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าผู้ร้องเป็นหนี้อยู่เป็นเงิน 200,000 บาท เป็นหนี้เด็ดขาด และมีหนังสือเตือนให้ผู้ร้องชำระหนี้ในวันเดียวกัน วันที่ 3 กรกฎาคม 2522 ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านว่า การประเมินทวงหนี้ในหนังสือพิมพ์ชาวไทยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งยกคำร้องวันที่ 23 สิงหาคม 2522 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งยกคำร้องโดยไม่ไต่สวนสอบสวนอย่างใด ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2522 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลเป็นคดีนี้
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า การทวงหนี้โดยประมาททางหนังสือพิมพ์ชาวไทยถือไม่ได้ว่าเป็นการลงโฆษณา ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 เรื่องการส่งเอกสารมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 79 ที่ใช้อยู่นั้น บัญญัติไว้ว่าถ้าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารไม่สามารถจะได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ศาลอาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือมีคำคู่ความหรือเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่ายหรือมอบหมายคำคู่ความหรือเอกสารไว้แก่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องถิ่น หรือเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วปิดประกาศแสดงการที่ได้มอบหมายดังกล่าวแล้วนั้นไว้ดังกล่าวมาข้างบน หรือลงโฆษณาหรือทำวิธีอื่นใด ตามที่ศาลเห็นสมควร
กรณีเรื่องนี้ได้ความว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถลงหนังสือทวงหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการของผู้ร้องได้เพราะเจ้าหนี้ผู้ส่งหมายรายงานว่า ไม่พบผู้ร้อง คนในบ้านแจ้งว่าย้ายไปแล้ว เมื่อสอบถามไปยังนายทะเบียนท้องถิ่นก็ได้รับตอบว่า ไม่มีชื่อผู้ร้องในบ้านดังกล่าว เห็นได้ว่า การส่งหนังสือทวงหนี้ไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีธรรมดา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงต้องส่งโดยวิธีอื่นแทน กล่าวคือส่งไปประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ชาวไทย ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ถือได้ว่าเป็นการลงโฆษณาตามความหมายแห่งบทบัญญัติมาตรา 79 แล้ว
ได้ความต่อไปว่า มีการลงโฆษณาโดยประกาศในหนังสือพิมพ์ชาวไทย ฉบับลงวันที่ 20, 21 และ 22 กรกฎาคม 2516 รวม 3 วันถือได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งหนังสือทวงหนี้ให้แก่ผู้ร้องโดยชอบแล้ว เมื่อผู้ร้องมิได้มีหนังสือปฏิเสธหนี้ภายใน 14 วัน ผู้ร้องจึงเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นการเด็ดขาดตามนัยแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 119 วรรแรก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้ว ผู้ร้องเพิ่งยื่นคำร้องคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2522 และวันที่ 23 สิงหาคม 2522 จึงชอบที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะสั่งยกคำร้องของผู้ร้องเสียได้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สั่งยกคำร้องของผู้ร้อง มีผลให้ผู้ร้องเสียหายเพราะไม่ได้รับการพิจารณาหรือสอบสวนใหม่ตามบทบัญญัติมาตรา 146 ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องมายื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลในวันที่ 25 กันยายน 2522 ซึ่งเกินเวลามา 14 วันตามกฎหมาย”
พิพากษายืน