คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3086/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและนำมาร่วมกับจำเลยที่ 2และที่ 3 ดำเนินการรับขนส่งสินค้า โดยส่งคนขับรถของจำเลยที่ 4 มาขับรถ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการขนส่งสินค้าในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดในผลการละเมิดของลูกจ้างต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ หมายเลขทะเบียน82-9870 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันประกอบกิจการรับจ้างขนส่งสินค้าใช้ชื่อว่า “มิตรไพบูลย์” จำเลยที่ 4นำรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเข้าร่วมในการรับจ้างขนส่งสินค้าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4นายชุมพล สุขคันธรักษ์ บุตรชายโจทก์ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 3ข-2207 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของโจทก์ จากห้าแยกปากเกร็ดไปตามถนนแจ้งวัฒนะมุ่งหน้าไปทางสี่แยกหลักสี่เมื่อไปถึงปากทางเข้าหมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ 1 มีเจ้าพนักงานตำรวจจราจรให้สัญญาณให้รถของโจทก์หยุดเพื่อปล่อยรถเข้าออกหมู่บ้านรถของโจทก์จึงหยุดรอ ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุก 6 ล้อหมายเลขทะเบียน 82-9870 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มาด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ขับรถมาในเส้นทางเดียวกับรถของโจทก์ด้วยความเร็วสูง ทั้ง ๆ ที่บรรทุกสินค้ามาเต็มคันรถเมื่อมาถึงปากทางเข้าหมู่บ้านดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงหยุดรถไม่ทันรถดังกล่าวพุ่งชนด้านขวาของรถโจทก์อย่างแรง ทำให้รถของโจทก์เสียหายพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับไปแล้ว รถของโจทก์ได้รับความเสียหายหลายประการ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินค่าเสียหาย 76,626 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ หมายเลขทะเบียน 82-9870 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถคันดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยร่วมกับจำเลยที่ 4 ประกอบกิจการขนส่งสินค้าโดยใช้ชื่อในการดำเนินกิจการว่า “มิตรไพบูลย์”แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวจดทะเบียนการค้าว่า”มิตรไพบูลย์” จำเลยที่ 1 ไม่เคยเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2และที่ 3 จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาท หากแต่นายชุมพลสุขคันธรักษ์ ผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3ข-2207 กรุงเทพมหานครเป็นผู้ประมาท กล่าวคือ นายชุมพลขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้มาตามช่องทางเดินรถช่องซ้ายของช่องทางเดินรถของจำเลยที่ 1 เมื่อใกล้ถึงที่เกิดเหตุนายชุมพลเปลี่ยนช่องทางเดินรถอย่างกระทันหันเข้ามาในช่องทางเดินรถของจำเลยที่ 1 โดยมิได้ให้สัญญาณไฟแจ้งล่วงหน้าและหยุดรถกระทันหันเป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับมาชนรถของโจทก์ด้านท้าย แม้จำเลยที่ 1 จะได้ห้ามล้อแล้ว หากนายชุมพลไม่เปลี่ยนช่องทางและหยุดรถกะทันหันก็ไม่เกิดชนกัน ค่าเสียหายตามฟ้องโจทก์สูงเกินกว่าความจริง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากภรรยาให้ฟ้องคดีนี้ลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นลายมือปลอม โจทก์มิใช่เจ้าของและไม่มีสิทธิใช้รถยนต์หมายเลขทะเบียน3ข-2207 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 4 ไม่เคยนำรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 82-9870 กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประกอบกิจการขนส่งใช้ชื่อดำเนินการว่า “มิตรไพบูลย์” กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รถยนต์หมายเลขทะเบียน 82-9870 กรุงเทพมหานคร ดังกล่าวจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 1เช่าซื้อและรับมอบไปตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 1ใช้รถดังกล่าวนี้เพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 เอง จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อตามที่โจทก์ฟ้อง หากแต่นายชุมพล สุขคันธรักษ์เป็นผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3ข-2208 กรุงเทพมหานคร โดยประมาทเลินเล่อเปลี่ยนช่องทางเดินรถเข้ามาในช่องทางเดินรถของจำเลยที่ 1และหยุดรถอย่างกะทันหัน เป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับมาชนท้ายรถโจทก์ ค่าเสียหายในการซ่อมรถโจทก์อย่างมากไม่เกิน 3,000 บาทโจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถเพื่อธุรกิจ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์76,626 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2ถึงที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 76,626 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนกระทำการในทางการที่จ้างหรือในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 หรือไม่ และจำเลยที่ 4 นำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเข้าร่วมในกิจการรับจ้างขนส่งสินค้ากับจำเลยที่ 2 และที่ 3หรือไม่… พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์มีแต่นายชุมพลมาเบิกความแต่ผู้เดียวว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ให้แก่มิตรไพบูลย์ คือเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังว่าข้อเท็จจริงเป็นดังนายชุมพลเบิกความนั้น ฝ่ายโจทก์นอกจากนายชุมพลจะเบิกความว่า จำเลยที่ 1 บอกว่าขับรถรับจ้างให้มิตรไพบูลย์โดยจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างมิตรไพบูลย์ ขับมาตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 บรรทุกสินค้าเพื่อไปส่งที่พระประแดงจำเลยที่ 1 เป็นผู้บอกว่าจำเลยที่ 2 ประกอบการค้าใช้ชื่อว่า”มิตรไพบูลย์” และบอกแก่เจ้าพนักงานตำรวจด้วย จำเลยที่ 1 เป็นผู้บอกว่าจำเลยที่ 3 ประกอบการขนส่งเดินรถแล้ว โจทก์ยังมีนายสมมาตรศรีสมุทร เบิกความว่า จำเลยที่ 1 บอกพยานว่ารถยนต์บรรทุกได้ขนสินค้าให้บริษัทมิตรไพบูลย์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 สั่งให้จำเลยที่ 1บรรทุกมา เรื่องความเสียหาย จำเลยที่ 1 จะติดต่อกับจำเลยที่ 2และที่ 3 ให้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันตั้งบริษัทมิตรไพบูลย์ นอกจากนี้ยังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.5 มีชื่อ”มิตรไพบูลย์” ตรงกระจกหน้ารถ จากพยานบุคคลและพยานวัตถุเช่นนี้จึงทำให้น่าเชื่อว่า รถยนต์คันดังกล่าวได้นำมาใช้ในกิจการขนส่งภายใต้ชื่อว่า “มิตรไพบูลย์” อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 2 และที่ 3จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้นำพยานมาสืบหักล้างข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบ แต่กลับนำสืบยอมรับว่าจำเลยที่ 3 ได้นำชื่อ”มิตรไพบูลย์” ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 พี่ชายจำเลยที่ 3 มาติดไว้ที่รถของจำเลยที่ 3 เพื่อป้องกันการเสียเบี้ยบ้ายรายทาง อันเป็นการเจือสมทางนำสืบของโจทก์ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 และได้กระทำการขนส่งสินค้าในทางการค้าของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดในผลการละเมิดของลูกจ้าง คือจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีประเด็นนี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 หรือไม่ และจำเลยที่ 4 เข้าร่วมในกิจการรับจ้างขนส่งสินค้ากับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ ปรากฏทางทะเบียนว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 82-9870 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 4มีชื่อเป็นเจ้าของตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 4 อ้างว่าได้ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป และจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คชำระหนี้รวม4 ฉบับ ต่อมาปรากฏว่าเช็คของจำเลยที่ 1 ทุกฉบับขึ้นเงินไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2528 จำเลยที่ 4 ก็มิได้ดำเนินการอย่างไรกับจำเลยที่ 1 เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระเงินเลย ตามพฤติการณ์ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 กับที่ 4 ตกลงเช่าซื้อรถกันจริงจัง การที่รถคันดังกล่าวไปร่วมรับขนส่งสินค้ากับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในนามมิตรไพบูลย์ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของจำเลยที่ 4 ดำเนินการ ไม่ใช่จำเลยที่ 1ทำเอง จำเลยที่ 1 จึงพูดกับนายชุมพลตอนพนักงานสอบสวนกำลังสอบสวนว่า เดี๋ยวเถ้าแก่ซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 4 ผู้เป็นเจ้าของรถจะมาเอารถออกเพราะว่าคนไม่ตาย กรณีเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อจำเลยที่ 4ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการรับส่งสินค้า โดยส่งคนขับรถของจำเลยที่ 4 มาขับรถ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share