แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ล. ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ของบริษัท โดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยไว้ก่อน ดังนี้ เมื่อได้ความว่าก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต. ผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์เช่นเดียวกับโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน3 เดือนนับแต่วันที่ ด. รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 6 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายพิพัฒน์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ว่าพยานได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วรู้ว่าจำเลยเป็นผู้ยักยอกทรัพย์ของบริษัทลัดสุภาอินเตอร์เทรด จำกัด ไป จึงได้แจ้งให้นางลัดดาศรีทราบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2533 นางลัดดาศรีได้แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2534 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 20 มีนาคม2534 โดยไม่มีผู้ใดร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยไว้ก่อน เห็นว่านางลัดดาศรีเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทลัดสุภาอินเตอร์เทรดจำกัด เช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งศาลล่างทั้งสองไม่ได้ฟังว่านางลัดดาศรีเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับจำเลยดังที่โจทก์ฎีกา นางลัดดาศรีจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี แก่จำเลยได้เช่นเดียวกับโจทก์ คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้เมื่อนางลัดดาศรีไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดซึ่งในกรณีนี้ถือว่ารู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในเดือนพฤษภาคม 2533 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 20 มีนาคม 2534คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน