คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า การเวนคืนที่ดินพิพาททำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้น ต้องเอาราคาสูงขึ้นนั้นมาหักกับค่าทดแทนที่ดินพิพาท ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่าราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว เท่ากับโจทก์ได้รับประโยชน์จากการเวนคืนมากกว่าราคาซื้อในครั้งแรกถึง 6 เท่าตัว จึงไม่มีเหตุจะได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทจึงไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ.2527 มาตรา 5ให้นิคมอุตสาหกรรมจำเลยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคือวันที่ 10 ธันวาคม 2525ทั้งนี้นอกจากคำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้วยังต้องคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ดังนั้น การที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม อำเภอเมืองระยอง ในปี 2525 ถึง 2527 ซึ่งเป็นบัญชีกำหนดราคาที่ดินโดยเอาตำบล ถนน และทะเลเป็นหลักในการประเมินราคาเป็นการประเมินอย่างกว้าง ๆ ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินดังกล่าวย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป การพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่จะถูกเวนคืนต้องพิจารณาถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่เป็นอยู่จริงในแต่ละแปลง มิใช่พิจารณาแต่เพียงว่าที่ตั้งของที่ดินอยู่ในตำบลใด ห่างจากถนนหรือทะเล ตรงตามบัญชีกำหนดราคาที่ดิน ฯ ในหน่วยใดก็กำหนดให้ตามนั้น ส่วนเหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืนแม้จำเลยมีความประสงค์จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนภายในประเทศมากขึ้นก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพ.ศ.2522 มาตรา 6 กำหนดให้จำเลยเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย จำเลยย่อมได้รับผลประโยชน์จากที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วย ดังนั้นเมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรจะต้องใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ตามราคาของทรัพย์สินนั้นในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ จึงจะถือว่าเป็นราคาตามความเป็นธรรม การที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ทุกแปลงตามการแบ่งเป็นหน่วยในบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ฯแสดงให้เห็นว่าจำเลยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งที่แท้จริงของที่ดินของโจทก์ และไม่ได้คำนึงถึงเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วยวิธีการของจำเลยในการกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เวนคืน ฯ มาตรา 5 ดังกล่าวข้างต้น
ราคาที่ดินที่เคยซื้อขายกันดังที่โจทก์นำสืบมา บางแปลงอยู่ต่างตำบลและต่างอำเภอกับที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าที่ดินดังกล่าวแปลงใดอยู่ห่างที่ดินพิพาทระยะทางเท่าใด สภาพและที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวแปลงใดมีสภาพและที่ตั้งเหมือนหรือคล้ายคลึงกับที่ดินพิพาทแปลงไหนบ้าง จึงไม่อาจนำเอาราคาซื้อขายของที่ดินดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์เพื่อเปรียบเทียบกับที่ดินพิพาทได้

Share