คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายรถยนต์กับโจทก์ปรากฎตามสำเนาสัญญาจะซื้อขายท้ายฟ้อง แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ จำเลยให้การต่อสุ้คดีแต่เพียงข้อเดียวว่าชำระแล้ว แต่มิได้ปฎิเสธสัญญา ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่าจำเลยชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือให้โจทก์แล้วหรือไม่ส่วนสัญญาจะซื้อขายที่โจทก์อ้างเมื่อจำเลยไม่ปฎิเสธต้องถือว่าจำเลยรับ โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบ และเมื่อถือว่าจำเลยรับสัญญาจะซื้อขายที่โจทก์อ้างแล้วรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในสำเนาสัญญาจะซื้อขายย่อมนำมาใช้ประกอบในการพิจารณาพิพากษาได้กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ยี่ห้ออีซูซุจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าวจากโจทก์ในราคา 160,000 บาทในวันทำสัญญาจำเลยชำระราคาเป็นเงิน 50,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก110,000 บาท จะทำให้ต่อเมื่อวันโอนทะเบียนและโจทก์ได้มอบรถยนต์ให้จำเลยในวันทำสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530โจทก์โอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลยโดยจำเลยตกลงว่าจะชำระราคาที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันโอนแต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระราคารถยนต์พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 111,375 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน110,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทเป็นของนางวรรณาวรทวีธำรง แต่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์และตกลงขายให้แก่จำเลยในราคา 160,000 บาท จำเลยหลงเชื่อได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์และวางมัดจำไว้ 50,000 บาท และตกลงกันว่าส่วนที่เหลือจะชำระเมื่อโจทก์มอบเอกสารชุดโอนทะเบียนและดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว ต่อมาได้มีการนัดวันชำระเงินและโอนทะเบียนรถยนต์พิพาท ครั้นถึงวันนัดจำเลยได้ไปพบโจทก์จึงทราบว่าชื่อทางทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นของนางวรรณาจำเลยขอให้คืนเงินมัดจำ โจทก์ไม่ยอม โจทก์ได้พาจำเลยไปรับมอบทะเบียนรถยนต์จากนางวรรณา นางวรรณามอบทะเบียนรถยนต์และลงลายมือชื่อในเอกสารชุดโอนทะเบียน พร้อมทั้งมอบเอกสารประกอบการโอน คือบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของนางวรรณาจำเลยจึงได้ชำระเงินที่เหลือ 110,000 บาท แก่โจทก์ไป แต่จำเลยยังไม่สามารถรับโอนทะเบียนได้ทันที เพราะรถพิพาทเป็นรถสี่ล้อใหญ่ไม่สามารถใช้รับจ้างร่วมกับรถประจำทางได้ แต่ทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพยินยอมให้ต่อรถยนต์คันใหม่ให้เป็นชนิดหกล้อแบบมินิบัสมาสวมทะเบียนรถพิพาทได้ จึงต้องดำเนินการส่วนนี้ให้แล้วเสร็จแล้วจะโอนชื่อเป็นของนายสมศักดิ์ อัศวนันทวดี น้องชายจำเลยการผ่อนผันขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพดังกล่าวทำให้รถที่ซื้อขายกันมีราคาสูงขึ้นมาก โจทก์มีความเสียดาย จึงติดต่อขอซื้อคืนจำเลยไม่ยินยอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การดำเนินคดีของโจทก์ได้อาศัยสำเนาสัญญาจะซื้อขาย ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวแล้วนำมาพิพากษาเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์กับโจทก์ปรากฎตามสำเนาสัญญาจะซื้อขายท้ายฟ้องแล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ จำเลยต่อสู้คดีแต่เพียงข้อเดียวว่าชำระแล้ว แต่มิได้ปฎิเสธสัญญา ประเด็นข้อพิพาทจึงมีแต่เพียงว่าจำเลยชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือให้โจทก์แล้วหรือไม่ ส่วนสัญญาจะซื้อขายที่โจทก์อ้างเมื่อจำเลยไม่ปฎิเสธต้องถือว่าจำเลยรับ โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบ และเมื่อถือว่าจำเลยรับสัญญาจะซื้อขายที่โจทก์อ้างดังกล่าวแล้ว รายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในสำเนาสัญญาจะซื้อขายย่อมนำมาใช้ประกอบในการพิจารณาพิพากษาได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93 ตามที่จำเลยอ้าง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share