คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์แจ้งยอดจำนวนหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้อยู่และจะให้ทนายฟ้องเรียกจากจำเลยโดยทนายได้แสดงใบแต่งทนายของบริษัทโจทก์ให้ดูด้วย จำเลยจึงได้ขอร้องอย่าให้ฟ้อง ต่อมาจึงได้ทำหนังสือประนีประนอมยอมความว่า ลูกหนี้สละสิทธิที่จะฟ้องเรียกหนี้สินจากเจ้าหนี้ตามที่เคยให้ทนายทวงถามมา และรับว่าค้างชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ 30,574.56 บาท ซึ่งลูกหนี้จะชำระให้เสร็จภายใน 3 ปี โดยผ่อนชำระเดือนละ 850 บาท ในตอนท้ายลงชื่อลูกหนี้ กับลงชื่อทนายโจทก์ ดังนี้ถือได้ว่าเป็นกรทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 แล้ว
สัญญาประนีประนอมยอมความได้มีหลักฐานเป็นหนังสือและจำเลยฝ่ายที่ต้องรับผิดได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญแล้ว โจทก์ก็ย่อมฟ้องบังคับคดีได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้มีข้อความว่าจะต้องมีลายมือชื่อของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายลงไว้ด้วยกัน จึงจะเป็นสัญญาอันสมบูรณ์ (อ้างฎีกาที่ 344/2494)
จำเลยชำระเงินให้แก่ทนายโจทก์ แต่ทนายโจทก์ยังไม่ได้ส่งไปให้โจทก์ ได้ความว่าเป็นเงินที่จำเลยยอมให้ทนายโจทก์หักไว้เป็นค่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระโจทก์ ไม่ใช่ชำระหนี้เงินต้น ทนายโจทก์ได้กันเงินจำนวนนี้ไว้ใช้จ่ายในฟ้องร้องจำเลยโดยความยินยอมของโจทก์ ดังนี้ จะนำเงินจำนวนนี้ไปหักจากยอดหนี้สินที่จำเลยค้างชำระอยู่แก่โจทก์ย่อมไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาประนีประนอมกับนายสุทธิ์ ช่องดารากุล ทนายความประจำบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทโจทก์ ยอมชำระหนี้สองจำนวนเงิน ๑๐,๕๗๔.๕๖ บาท โดยผ่อนชำระเดือนละ ๘๕๐ บาท จำเลยชำระหนี้ได้ ๒ เดือน ต่อมาก็ผิดนัดเรื่อย ค้างชำระต้นเงิน ๑๙,๐๕๖.๑๗ บาท กับดอกเบี้ย ๖,๕๗๙.๗๔ บาท ขอให้ศาลบังคับพร้อมกับให้ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า ได้ชำระเงินให้โจทก์แล้ว ๒๖,๔๐๗.๑๐ บาท คงค้างชำระเพียง ๔,๑๓๗.๔๖ บาท ไม่ได้ตกลงคิดดอกเบี้ย ผู้ทำสัญญาประนีประนอมทางฝ่ายโจทก์ไม่ใช่โจทก์หรือตัวแทนโจทก์ลงชื่อ จะนำมาใช้ยันผูกพันจำเลยไม่ได้
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์ ๘,๔๓๑.๘๕ บาท กับดอกเบี้ย ถึงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๐๕ อีก ๒,๐๐๐ บาท รวม ๑๐,๔๓๑.๘๕ บาท พิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้กับดอกเบี้ยในต้นเงิน ๘,๔๓๑.๘๕ บาท ร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๐๕
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ผู้พิพากษานายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่าสัญญาประนีประนอมยอมความที่นายสุทธิ์ ช่องดารากุล ลงชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลยนั้น ไม่มีผลที่โจทก์จะบังคับเอาแก่จำเลยได้ ทั้งไม่มีลักษณะเป็นการประนีประนอมระงับข้อพิพาท ควรพิพากษายกฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือประนีประนอมยอมความกันมีความว่า สัญญาระหวางบริษัทยิบอินซอย จำกัด เจ้าหนี้กับนายชัยรัตน์ วิจารณ์ ลูกหนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลง+สัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยลูกหนี้สละสิทธิที่จะฟ้งอเรียกหนี้สินจากเจ้าหนี้ตามที่เคยให้ทนายความคนหนึ่งทวงถามมาเสีย และลูกหนี้รับว่าค้างชำระหนี้แก่บริษัทเจ้าหนี้ คือค่าสินค้าฝากขาย + บาท กับสินค้าซื้อเชื่อมา ๑,๑๗๑.๖๗ บาท รวมสองจำนวน ๓๐,๕๗๔.๕๖ บาท เงินจำนวนนี้ ลูกหนี้จะชำระให้เสร็จภายใน ๓ ปี โดยผ่อนชำระเดือนละ ๘๕๐ บาท ในตอนท้ายลงชื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้กับลงชื่อนายสุทธ์ ช่องดารากุล แทนเจ้าหนี้ การที่จะทำสัญญากันขึ้นนี้ เนื่องจากบริษัทโจทก์ได้แจ้งยอดเงินจำนวนหนี้ที่จำเลยเป็นลูกหนี้อยู่ และจะให้นายสุทธ์ทนายฟ้องเรียกจากจำเลย โดยนายสุทธ์ได้แสดงใบแต่งทนายของบริษัทโจทก์ให้ดูด้วย จำเลยขอร้องอย่าให้ฟ้อง แล้วจึงทำหนังสือดังกล่าว ดังนี้ถือได้ว่าเป็นการทำสัญยาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ในเสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ แล้ว
ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปมีว่า การที่สัญญานี้ไม่มีกรรมการผู้มีอำนาจแทนบริษัทโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลย โดยทนายความประจำของบริษัทโจทก์ลงชื่อแทนดังนี้ ฝ่ายจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดดังฎีกาจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา ๘๕๑ บัญญัติความว่า อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับนั้นหาได้ไม่ ก็เมื่อสัญญานี้ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือและจำเลยฝ่ายที่ต้องรับผิดได้ลงลายมือชื่อเป็นสำคัญแล้ว บริษัทโจทก์ก็ย่อมฟ้องบังคับคดีได้ เพราะตามกฎหมายมาตรานี้มิได้มีข้อความว่าจะต้องมีลายมือชื่อของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายลงไว้ด้วยกัน จึงจะเป็นสัญญาอันสมบูรณ์ ตามคำพิพากษาที่ +/๒๔๙๔ง
เกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะต้องใช้ให้แก่โจทก์มากน้อยเท่าใดนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่บริษัทโจทก์ ๘,๔๓๑.๘๕ บาท กับดอกเบี้ยที่ค้างชำระอีก ๒,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๐,๕๓๑.๘๕ บาท จำเลยไม่ได้โต้เถียงว่าเงิน ๘,๕๓๑.๘๕ บาท นี้ไม่ตรงกับความจริง คงคัดค้านเพื่อว่าควรหักเงินจำนวน ๔,๒๐๐ บาทที่จำเลยชำระแก่นายสุทธ์ทนายโจทก์ แต่ทนายโจทก์ยังไม่ได้ส่งไปยังบริษัท ซึ่งถ้าส่งไปแล้วทางบริษัทก็จะหักออก เป็นเหตุให้จำเลยคงค้างชำระเพียง ๔,๒๓๑.๘๕ บาทเท่านั้น สำหรับเรื่องเงินจำนวน ๔,๒๐๐ บาทที่จำเลยชำระแก่นายสุทธ์นี้ ได้ความว่าเป็นเงินที่จำเลยยอมในสุทธ์หักไว้เป็นค่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่แก่บริษัทโจทก์ ไม่ใช่ชำระต้นเงิน นายสุทธ์จึงได้กันเงินจำนวนนี้ ๔,๒๐๐ บาท ซึ่งเป็นค่าดอกเบี้ยนี้ไว้ใช้จ่ายในการฟ้องร้องจำเลย โดยความยินยอมของบริษัทโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็จะนำเงิน ๔,๒๐๐ บาทไปหักจากอยดหนี้สินที่จำเลยค้างชำระอยู่แก่บริษัทโจทก์+ฎีกาจำเลยอย่างไรได้
พิพากษายืน.

Share