คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4367/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินที่พิพาทของโจทก์โดยนำเอาแต่เพียงราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางมาเป็นเกณฑ์ประเมิน มิได้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 18 และจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำสืบว่า เหตุที่ประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากเช่นนั้นมีเหตุผลพิเศษอย่างไร เช่นอัตราค่าภาษีของปีที่ล่วงแล้วต่ำไปหรือไม่เหมาะสมอย่างไรหรือว่าทรัพย์สินที่พิพาทของโจทก์ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะเพิ่มขึ้นมากจนเป็นเหตุเพียงพอให้จำเลยที่ 1กำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8ดังนั้น การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1และคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าค่ารายปีทรัพย์สินที่พิพาทของโจทก์ควรเพิ่มขึ้นเป็นอัตราส่วนเท่ากับดัชนีราคาผู้บริโภคปี 2538 ของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2537 เพียงร้อยละ 5.8ค่ารายปีทรัพย์สินที่พิพาทของโจทก์ประจำปีภาษี 2539 จึงควรเป็นเงินจำนวน 634,800 บาท และค่าภาษีควรเป็นเงิน79,350 บาท นั้น ถือได้ว่าเป็นการกำหนดค่ารายปีโดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมิน และใบแจ้งคำชี้ขาด และขอให้คิดค่ารายปีเป็นเงิน 634,800 บาท และค่าภาษี79,350 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษี 155,100 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินภาษีและคำชี้ขาดชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนใบแจ้งการถอนประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 155,100 บาท แก่โจทก์ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนดสามเดือนที่นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีประเมินค่ารายปีของโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ประจำปีภาษี 2537 เป็นเงินจำนวน 582,000 บาท ค่าภาษีจำนวน 72,750 บาท ประจำปีภาษี 2538 เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท ค่าภาษีจำนวน 75,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 แต่สำหรับประจำปีภาษี 2539 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินที่พิพาทของโจทก์เพิ่มขึ้นเป็นเงินจำนวน 1,275,600 บาท ค่าภาษีจำนวน 159,450 บาท เพิ่มขึ้นจากปีภาษี 2538 ร้อยละ 212.60 บาท ในขณะที่คลังเก็บน้ำมันของโจทก์ในท้องที่อื่นมีอัตราภาษีเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 1 ตามตารางการเปรียบเทียบค่ารายปีและภาษีโรงเรือนเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 4 และในปี 2538ดัชนีราคาผู้บริโภคของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2537 เพียงร้อยละ 5.8 ตามเอกสารหมาย จ.2 ค่ารายปีของโจทก์จึงควรเป็นเงินจำนวน 634,800 บาท ค่าภาษีควรเป็นเงินจำนวน 79,350 บาทส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบว่า เดือนธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้ขยายเขตครอบคลุมพื้นที่ออกไป ทำให้โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทของโจทก์อยู่ในเขตท้องที่รับผิดชอบของจำเลยที่ 1 การกำหนดค่ารายปีทรัพย์สินอาศัยหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทยที่ให้ราชการส่วนท้องถิ่นจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสองคณะ คณะแรกเพื่อพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี คณะที่สองเพื่อพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามเอกสารหมาย ล.5 แผ่นที่ 13ถึง 14 ซึ่งคณะกรรมการชุดแรกได้กำหนดค่ารายปีทรัพย์สินแล้วต่อมาเมื่อมีการขยายเขตครอบคลุมพื้นที่ออกไปก็ยังถือว่าค่ารายปีทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้เหมือนเดิม และแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ทำเลที่ตั้งตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 1 ถึง 6 จำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินที่พิพาทของโจทก์ โดยนำเอาราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปีทำไว้ตามเอกสารหมาย ล.5 แผ่นที่ 3 และ 5 ถึง 7 มาเป็นเกณฑ์ประเมิน เห็นว่าจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินที่พิพาทของโจทก์โดยนำเอาแต่เพียงราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ประเมิน มิได้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 และจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำสืบว่า เหตุที่ประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากเช่นนั้นมีเหตุผลพิเศษอย่างไร เช่น อัตราค่าภาษีของปีที่ล่วงแล้วซึ่งจัดเก็บโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีต่ำไปหรือไม่เหมาะสมอย่างไรหรือว่าทรัพย์สินที่พิพาทของโจทก์ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะเพิ่มขึ้นมากจนเป็นเหตุเพียงพอให้จำเลยที่ 1 กำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8ที่นางนงพรรณ สังข์แก้ว พยานจำเลยทั้งสองเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงว่า หลังจากที่ได้มีการขยายเขตของจำเลยที่ 1ได้มีการปรับปรุงไฟฟ้าไปยังบริเวณที่ตั้งคลังน้ำมันของโจทก์และปรับปรุงถนนที่เชื่อมต่อถนนหลวงซึ่งเชื่อมต่อไปยังบริเวณที่ตั้งคลังน้ำมันของโจทก์นั้นก็เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆไม่ปรากฏว่าจัดทำเมื่อใดทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ก็ไม่ปรากฏในคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วถึงร้อยละ 212.60 ดังนั้นการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าค่ารายปีทรัพย์สินที่พิพาทของโจทก์ควรเพิ่มขึ้นเป็นอัตราส่วนเท่ากับดัชนีราคาผู้บริโภคปี 2538 ของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้ากรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ตามเอกสารหมาย จ.2ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2537 เพียงร้อยละ 5.8 ค่ารายปีทรัพย์สินที่พิพาทของโจทก์ประจำปีภาษี 2539 จึงควรเป็นเงินจำนวน634,800 บาท และค่าภาษีควรเป็นเงิน 79,350 บาท นั้น ถือได้ว่าเป็นการกำหนดค่ารายปีโดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แล้ว ประกอบกับจำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบว่าเศรษฐกิจในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเติบโตมากกว่าอัตราดังกล่าว หรืออัตราที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร จึงฟังได้ว่า ค่ารายปีตามที่โจทก์อ้างชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกา
พิพากษายืน

Share