แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามหนังสือบริคณห์สนธิของจำเลยที่ 3 ปรากฏในข้อ 3(6) ว่ามีวัตถุประสงค์ในการจำนอง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการค้ำประกันเพื่อชำระหนี้ ดังนี้ ต้องถือว่าการค้ำประกันอยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ทำสัญญาขายลดเช็คให้ไว้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 300,000 บาท โดยจำเลยที่ 2ในฐานะส่วนตัวจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ได้นำเช็ค 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 300,000 บาท มาขายลดให้โจทก์ตามสัญญาขายลดเช็ค เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสามฉบับ โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสี่เพิกเฉย จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีตามสัญญาขายลดเช็ค ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินถึงวันฟ้องรวม 36,000 บาท เมื่อรวมกับต้นเงินตามเช็ค 300,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสี่จะต้องชำระให้โจทก์ 336,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีในต้นเงิน 300,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคล ไม่มีวัตถุประสงค์ทำการค้ำประกัน สัญญาขายลดเช็ค แม้ได้กระทำในนามของจำเลยที่ 3ก็ไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 4 ให้การว่า สัญญาค้ำประกันเป็นโมฆะ ทั้งจำเลยที่ 4ได้มีหนังสือแจ้งขอถอนการค้ำประกันจำเลยที่ 1 แล้ว สัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไปไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 4
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 13พฤศจิกายน 2518 ในต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2518และในต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2518 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าสัญญาค้ำประกันไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 เพราะนอกวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้วัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 ตามที่กำหนดในหนังสือบริคณห์สนธิจะมิได้กล่าวถึงการค้ำประกัน แต่ปรากฏตามข้อ 3(6)แห่งหนังสือบริคณห์สนธิของจำเลยที่ 3 ว่า มีวัตถุประสงค์ในการจำนองซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการค้ำประกันเพื่อชำระหนี้ ดังนี้ ถือว่าการค้ำประกันอยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 ค้ำประกันได้ และต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1
พิพากษายืน