คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อใดก็ให้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อนั้นขึ้นมากว่าวคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำคัดค้านให้ชัดแจ้งในคำฟ้องอุทธรณ์ว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายมานั้นไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกควรเป็นอย่างไรพร้อมด้วยเหตุผลที่คัดค้าน กฎหมายบทนี้มิได้มีความมุ่งหมายบังคับให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ต้องบรรยายในคำฟ้องอุทธรณ์ถึงคำฟ้องและคำให้การเหมือนดังที่บรรยายมาในศาลชั้นต้น เมื่อกฎหมายมิได้มีความมุ่งหมายดังกล่าวการที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องอุทธรณ์ถึงคำฟ้องและคำให้การมาย่อ ๆ พอให้ทราบว่าคดีโจทก์เป็นมาอย่างไรก็ย่อมเป็นการเพียงพอแล้ว และโจทก์ได้บรรยายไว้ในอุทธรณ์แล้วว่าโจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้โจทก์จนครบ การที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่กล่าวถึงการบังคับคดีส่วนนี้ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยตามสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองได้ เป็นการบรรยายโดยชัดแจ้งถึงข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 3 ว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้องเพียงใด ย่อมครอบคลุมไปถึงปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาจำนองหรือไม่ ซึ่งเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หากจำเลยไม่ชำระ ก็ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ จึงมีอำนาจวินิจฉัยได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท ตามฟ้องโจทก์บรรยายถึงการดำเนินการเป็นขั้น ๆ ไป คือบังคับจำนองนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดก่อน เมื่อได้เงินมาไม่พอชำระหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยซึ่งเป็นการบังคับแก่ทรัพย์โดยมีลำดับก่อนหลัง แต่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้โดยไม่มีลำดับก่อนหลัง จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยและเกินกว่าคำฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะจดทะเบียนจำนองไม่มีข้อตกลงในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยนอกเหนือไปจากทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้และไม่ได้ตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์จึงไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ตามสัญญาระบุให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี แต่ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพิ่มขึ้นตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์อีก ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราเพิ่มขึ้นจากอัตราในขณะเลิกสัญญาและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 10,500,192.54 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน8,859,436.97 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า หลังจากครบกำหนดสัญญาในวันที่5 มกราคม 2535 แล้วจำเลยไม่เคยเบิกเงินเกินบัญชีอีกจำเลยจึงผิดนัดตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยไม่ได้อีกต่อไป คงคิดได้แต่ดอกเบี้ยไม่ทบต้นการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 ทำให้ยอดหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้อง และตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยให้คิดดอกเบี้ยในวงเงินไม่เกิน 10,700,000 บาท ในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปีแต่ตามฟ้องโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าว ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์และทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีด้วย ฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามจำนวนที่คำนวณได้จากต้นเงิน 8,880,719.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2535 ต่อจากนั้นเป็นต้นไปให้คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2535ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2535 คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2535 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 ดอกเบี้ยร้อยละ 13.75 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่27 กันยายน 2536 ดอกเบี้ยร้อยละ 11.75 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2536 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2537 ดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2537 ถึงวันที่15 พฤศจิกายน 2537 ดอกเบี้ยร้อยละ 12.75 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี การคำนวณหนี้ดังกล่าวให้หักหนี้ที่จำเลยชำระเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2536 จำนวน 762,475 บาทวันที่ 27 กันยายน 2536 จำนวน 2,000,000 บาท ออกจากจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในวันชำระหนี้ด้วยโดยหักชำระหนี้ดอกเบี้ยก่อน เหลือจากนั้นให้หักชำระต้นเงิน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า อุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้บรรยายว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องอะไร มีใจความว่าอย่างไร จำเลยให้การว่าอย่างไร ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการอุทธรณ์มีว่าอย่างไรนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225บัญญัติว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์อันหมายความว่าคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อใดก็ให้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อนั้นขึ้นมากล่าวคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำคัดค้านให้ชัดแจ้งในคำฟ้องอุทธรณ์ว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายมานั้นไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกควรเป็นอย่างไรพร้อมด้วยเหตุผลที่คัดค้านกฎหมายบทนี้มิได้มีความมุ่งหมายบังคับให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ต้องบรรยายในคำฟ้องอุทธรณ์ถึงคำฟ้องและคำให้การเหมือนดังที่บรรยายมาในศาลชั้นต้น เมื่อกฎหมายมิได้มีความมุ่งหมายดังกล่าว การที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องอุทธรณ์ถึงคำฟ้องและคำให้การมาย่อ ๆ พอให้ทราบว่าคดีโจทก์เป็นมาอย่างไรก็ย่อมเป็นการเพียงพอแล้ว และโจทก์ได้บรรยายไว้ในอุทธรณ์แล้วว่าโจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้โจทก์จนครบ การที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่กล่าวถึงการบังคับคดีส่วนนี้ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยตามสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองได้ เป็นการบรรยายโดยชัดแจ้งถึงข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ปัญหาต่อไปมีว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ศาลจะพิพากษาให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องการบังคับจำนองไว้และโจทก์ก็มิได้คัดค้านว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องอย่างไร ด้วยเหตุนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ว่าหากจำเลยไม่ชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบจึงเป็นการพิพากษานอกประเด็นข้อพิพาทนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและจำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ ครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบจำเลยให้การว่า เมื่อครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาแล้วจำเลยไม่เคยเบิกถอนเงินออกจากบัญชีอีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 11.5 ต่อปี โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นหลังจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันแล้วและคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นหนี้ประธานแล้ว ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องเกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาจำนองอันเป็นหนี้อุปกรณ์ด้วย ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 3 ว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้องเพียงใด ย่อมครอบคลุมไปถึงปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาจำนองหรือไม่ ซึ่งเกิดจากคำฟ้องและคำให้การศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้จนครบแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าหากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบนั้น เป็นการพิพากษาเกินกว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยและเกินกว่าคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายถึงการดำเนินการเป็นขั้น ๆ ไปคือบังคับจำนองนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดก่อน เมื่อได้เงินมาไม่พอชำระหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลย ซึ่งเป็นการบังคับแก่ทรัพย์โดยมีลำดับก่อนหลัง แต่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้โดยไม่มีลำดับก่อนหลัง จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยและเกินกว่าคำฟ้อง
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ขณะจดทะเบียนจำนองไม่มีข้อตกลงในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยนอกเหนือไปจากทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนั้น เห็นว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้และไม่ได้ตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยไม่ทบต้นหลังวันที่ 5 มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญา ในอัตราขึ้นลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเห็นว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ11.75 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญาโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพิ่มขึ้นตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์อีก ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราเพิ่มขึ้น จากอัตราในขณะเลิกสัญญาและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share