แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 142(2) แห่ง ป.ม.วิ.แพ่งที่บัญญัติว่า ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใดใดเป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่า โจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้ นั้น ถ้าข้อเท็จจริงในคดีนั้นยังไม่ชัดเจนพอที่จะให้แบ่งส่วนกันออกไปอย่างไรแล้วศาลก็ไม่อาจแบ่งให้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าที่นาพิพาทเป็นของโจทก์ให้ขับไล่จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาทเป็นมรดกระหว่างโจทก์จำเลยและพี่น้องที่ยังมิได้แบ่งกัน และต่างได้ปกครองทำกินร่วมกันมา โจทก์จะขอให้ศาลแสดงว่าเป็นของโจทก์คนเดียวไม่ได้ และเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจนพอที่จะให้แบ่งมรดกออกไปอย่างไร ควรให้ไปว่ากล่าวกันในทางมรดก จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลควรแบ่งที่พิพาทไปทีเดียว
ศาลฎีกาเห็นว่าตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๑๔๒(๒) บัญญัติว่า ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่า โจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้ แต่สำหรับเรื่องนี้ ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจนพอที่จะให้แบ่งส่วนมรดกออกไปอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ศาลก็ไม่อาจแบ่งให้ได้
จึงพิพากษายืน