คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9948-10129/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46วรรคสองนอกจากจะหมายถึงการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้แล้วยังหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปอีกด้วย คดีนี้จำเลยจ้างโจทก์มาเพื่อจะให้ทำงานให้แก่จำเลยหมายความว่าจำเลยดำเนินกิจการมีงานที่จะมอบหมายให้โจทก์ทำตามที่จ้างและในขณะเดียวกันจำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยจำเลยมีเงินที่จะจ่ายค่าจ้างได้เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำงานตั้งแต่วันที่16พฤศจิกายน2538ถึงวันที่20ธันวาคม2538ไม่ว่าจะเป็นเพราะจำเลยไม่มีงานให้โจทก์ทำหรือเพราะเหตุอื่นใดและโจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากจำเลยไม่มีเงินจะจ่ายให้การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมอยู่ในความหมายที่ว่าเป็นกรณีที่ลูกจ้างไม่่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ซึ่งถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่จำต้องคำนึงว่าในเวลาภายหน้าจำเลยจะมีงานให้โจทก์ทำและมีเงินจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์แต่ละคนหรือไม่ ปัญหาว่าจำเลยที่2จะต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่1ต่อโจทก์หรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยที่2จะไม่ได้ให้การไว้จำเลยที่2ก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31 แม้จำเลยที่2จะเป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ2ก็ตามแต่จำเลยที่1เป็นบริษัทจำกัดเป็นนิติบุคคลจำเลยที่2เป็นกรรมการและเป็นผู้แทนของจำเลยที่1ความรับผิดของจำเลยที่2ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา77ประกอบมาตรา820กล่าวคือเมื่อจำเลยที่2กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่1จำเลยที่1ผู้เป็นตัวการต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่2ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่1โดยจำเลยที่2ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่่วมกับจำเลยที่1ต่อโจทก์ คำพิพากษาศาลแรงงานในส่วนค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างค้างจ่ายของโจทก์มีการพิมพ์จำนวนเงินผิดพลาดเล็กน้อยศาลฎีกาสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันกับคดีหมายเลขดำที่ 449/2539 โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 183
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสามสำนวนฟ้องในทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสามเป็นลูกจ้าง โดยมีตำแหน่งหน้าที่ วันเข้าทำงานค่าจ้างอัตราสุดท้าย กำหนดจ่ายค่าจ้าง และอายุงานตามฟ้องแต่ละสำนวนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2538 จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสามโดยโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสามไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหนา และค่าจ้างค้างจ่าย พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยทั้งสองทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสามสำนวนให้การว่าโจทก์บางสำนวนสมัครใจลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยทั้งสองเองโจทก์บางสำนวนละทิ้งหน้าที่ด้วยการขาดงาน และโจทก์บางสำนวนยังเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์รายใดเลย ข้ออ้างว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสามไม่เป็นความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 58 ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างจ่ายตามลำดับให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 183 (ยกเว้นโจทก์ที่ 58) ยกเว้นค้าจ้างค้างจ่ายสำหรับโจทก์ที่ 5 ที่ 13 ที่ 29 ที่ 34 ที่ 38ที่ 44 ที่ 47 ที่ 54 ที่ 69 ที่ 72 ที่ 79 ที่ 83 ที่ 84 ที่ 96ที่ 104 ที่ 105 ที่ 108 ที่ 111 ที่ 114 ที่ 120 ที่ 124 ที่ 127ถึงที่ 130 ที่ 136 ที่่ 137 ที่ 145 ที่ 148 ที่ 166 ที่ 177ที่ 178 ที่ 180 จำเลยทั้งสองไม่ต้องจ่าย และไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องทุกประเภทให้แก่โจทก์ที่ 58 ซึ่งถอนฟ้องไปแล้ว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นมาจนถึงวันที่20 ธันวาคม 2538 อันเป็นวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสอง จำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์รายใดเลยและไม่มีงานให้โจทก์แต่ละคนทำ เนื่องจากลูกค้าไม่มีคำสั่งซื้อสินค้าของจำเลย ในระหว่างเวลาดังกล่าวโจทก์คนใดมาตอกบัตรลงเวลาทำงานถ้าจำเลยมีเงินจำเลยก็จะจ่ายค่าจ้างให้ แต่เหตุที่จำเลยยังมิได้จ่ายค่าจ้างให้เป็นเพราะจำเลยไม่มีเงิน จำเลยทั้งสองไม่เคยออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์รายใด ใบลาออกของโจทก์บางคนตามเอกสารหมาย จ.ล.1 เป็นการลาออกภายหลังวันที่ 20 ธันวาคม 2538
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า การที่จำเลยไม่มีงานให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองทำและมิได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองเนื่องจากจำเลยไม่มีเงินจะจ่าย ถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองหรือไม่ เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสองบัญญัติว่า การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า การเลิกจ้างนอกจากจะหมายถึงการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้แล้ว ยังหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปอีกด้วยคดีนี้จำเลยจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองมาเพื่อจะให้ทำงานให้แก่จำเลย ซึ่งหมายความว่า จำเลยดำเนินกิจการมีงานที่จะมอบหมายให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองทำตามที่จ้างและในขณะเดียวกันจำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองโดยจำเลยมีเงินที่จะจ่ายค่าจ้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองไม่ได้ทำงานตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2538 ไม่ว่าจะเป็นเพราะจำเลยไม่มีงานให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองทำหรือเพราะเหตุอื่นใด และโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากจำเลยไม่มีเงินจะจ่ายให้ การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมอยู่ในความหมายที่ว่าเป็นกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทุกคนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทั้งนี้ไม่จำต้องคำนึงว่าในเวลาภายหน้าจำเลยจะมีงานให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองทำและมีเงินจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์แต่ละคนหรือไม่จำเลยต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสอง
ปัญหาข้อที่สองมีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองหรือไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ให้การไว้จำเลยที่ 2 ก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2จะเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ก็ตาม แต่ เนื่องจากว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 กล่าวคือเมื่อจำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ผู้เป็นตัวการต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบสองด้วย
อนึ่ง คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนค่าชดเชยของโจทก์ ที่ 44สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของโจทก์ที่ 5 ที่ 55 ที่ 56 และค่าจ้างค้างจ่ายของโจทก์ที่ 49 มีการพิมพ์จำนวนเงินผิดพลาดเล็กน้อยสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 44 เป็นเงิน26,100 บาท จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 5เป็นเงิน 26,100 บาท จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่5 เป็นเงิน 2,058 บาท โจทก์ที่ 55 เป็นเงิน 2,086 บาท โจทก์ที่ 56เป็นเงิน 2,058 บาท และจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 49 เป็นเงิน4,531 บาท และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share