แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
นายจ้างมีสถานประกอบกิจการโรงงาน 2 แห่ง แต่ละแห่งอยู่คนละจังหวัดกัน เมื่อสหภาพแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการลูกจ้างสำหรับโรงงานในจังหวัดหนึ่งแล้ว ก็ยังมีสิทธิที่จะตั้งคณะกรรมการลูกจ้างสำหรับโรงงานในอีกจังหวัดหนึ่งได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้ขออนุญาตศาลตามกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยบรรจุโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเท่าเดิม และจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างตั้งแต่วันที่สั่งให้ออกจากงานจนถึงวันฟ้องและนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยบรรจุโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ละทิ้งหน้าที่ในระหว่างเวลาทำงาน อันเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยมีลูกจ้างประมาณ 3,500 บาท และมีสถานประกอบกิจการ 2 แห่งคือที่จังหวัดชลบุรี และที่จังหวัดนครราชสีมา ลูกจ้างของจำเลยมีสิทธิแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างได้เพียงคณะเดียวและต้องมีจำนวนกรรมการลูกจ้างตั้งแต่ 17 ถึง 21 คน แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการลูกจ้างคณะแรกได้รับการแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2534 มีคณะกรรมการจำนวน 21 คน คณะกรรมการลูกจ้างคณะที่สองได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2534 มีจำนวนกรรมการ 13 คน จึงเป็นการตั้งเกินกว่ากฎหมาย การตั้งกรรมการลูกจ้างมิได้เกิดจากการเลือกตั้ง และสหภาพดังกล่าวมีสมาชิกไม่เกินกึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมด เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่ใช่กรรมการลูกจ้าง จำเลยไม่ต้องรับผิดความเสียหายที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีลูกจ้างประมาณ 3,500 คนมีสถานประกอบกิจการโรงงาน 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดชลบุรีและที่จังหวัดนครราชสีมา ลูกจ้างของจำเลยได้ตั้งสหภาพแรงงานชื่อสหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทย โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทยด้วย ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2534 เวลา 17.55นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาทำงานของโจทก์ โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่ไปฟังคำปราศรัยของพนักงานของจำเลยที่มาจากโรงงานที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2534 สหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทยได้ตั้งแต่คณะกรรมการลูกจ้างจำนวน 21 คน โดยมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2534สหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างเพิ่มอีก 13 คน ในการแต่งตั้งครั้งนี้ โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้างด้วยคนหนึ่ง แม้จำเลยจะมีโรงงานอยู่สองแห่ง คือที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดนครราชสีมา แต่ก็ถือว่าเป็นสถานประกอบกิจการแห่งเดียวกัน การตั้งคณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการของจำเลย จึงตั้งได้เพียงคณะเดียวและมีจำนวนไม่เกิน 21 คน การตั้งโจทก์เป็นคณะกรรมการลูกจ้างเพิ่มขึ้นมาอีกทำให้คณะกรรมการลูกจ้างมีจำนวนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงมิใช่กรรมการลูกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ละทิ้งหน้าที่จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 และไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาข้อนี้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 45 วรรคแรก บัญญัติว่า ในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป ลูกจ้างอาจจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้นได้ และประกาศกรมแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งคณะกรรมการลูกจ้าง ฉบับลงวันที่16 พฤษภาคม 2518 ข้อ 1 กำหนดว่า “ในสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งให้เลือกตั้งคณะกรรมการลูกจ้างได้หนึ่งคณะ เว้นแต่สถานประกอบกิจการนั้นมีหน่วยงานหรือสาขาในจังหวัดอื่น ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเช่นว่านั้นอาจตกลงกันเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างขึ้นจังหวัดละคณะได้ จำนวนกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการหรือในหน่วยงานหรือสาขาในแต่ละจังหวัด ให้กำหนดโดยถือหลักเกณฑ์ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518″ ฉะนั้นแม้สหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทยจะได้ตั้งคณะกรรมการลูกจ้างจำนวน 21 คน สำหรับโรงงานของจำเลยที่จังหวัดชลบุรีตามเอกสารหมาย ล.2 แล้วทางสหภาพฯย่อมมีสิทธิที่จะตั้งคณะกรรมการลูกจ้างจำนวน 13 คนสำหรับโรงงานของจำเลยที่จังหวัดนครราชสีมา ตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.3ได้อีก โจทก์จึงเป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายตามการแต่งตั้งในครั้งหลังนี้ จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 52 จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเท่าเดิม และให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างตั้งแต่วันที่สั่งให้โจทก์ออกจากงานถึงวันฟ้องเป็นเงิน 568 บาทและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม