คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเพียงผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ แต่ยังมิได้รับประทานบัตร หากระหว่างดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่มีผู้มาขุดแร่ในพื้นที่คำขอประทานบัตรรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายโดยตรงเพราะโจทก์ยังไม่มีสิทธิเข้าไปกระทำการใด ๆ แก่พื้นที่และไม่มีสิทธิครอบครอง แร่ที่มีอยู่ในเขตพื้นที่ตามคำขอยังเป็นสมบัติของรัฐอยู่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4และกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ควบคุมและสั่งการคนงานลูกจ้างบุกรุกเข้ามาในเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรของโจทก์ ได้ใช้รถแทรกเตอร์ไถหน้าดินตักกระบะ แร่ดีบุกขนบรรทุกใส่รถบรรทุกของจำเลยที่ 4 หลายคันไปไว้ในเขตประทานบัตรของจำเลยที่ 4ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,850,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ไม่เคยมอบหมาย สั่งการหรือสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 หรือผู้ใดไปกระทำการตามที่โจทก์กล่าวหาไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติแร่ฯเพราะโจทก์เป็นเพียงผู้ยื่นคำขอประทานบัตร ยังไม่มีประทานบัตรอันจะเป็นผู้มีสิทธิทำเหมืองแร่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวข้างต้นนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2525จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ แต่ยังมิได้รับประทานบัตรระหว่างดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่มีผู้มาขุดแร่ในพื้นที่คำขอประทานบัตร ปัญหาว่าโจทก์จะมีอำนาจฟ้องผู้เข้ามาขุดแร่ได้หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 43 บัญญัติว่า”ห้ามมิให้ผู้ใดทำเหมืองในที่ใดไม่ว่าที่ซึ่งทำเหมืองนั้นจะเป็นสิทธิของบุคคลใดหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร” และมาตรา 4 บัญญัติว่า “ทำเหมือง” หมายความว่า การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ ฯลฯ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นเพียงผู้ยื่นคำขอประทานบัตรเท่านั้น ซึ่งอธิบดีมีอำนาจสั่งยกคำขอประทานบัตรเสียได้ตามมาตรา 47โจทก์ยังไม่มีสิทธิเข้าไปกระทำการใด ๆ แก่พื้นที่และไม่มีสิทธิครอบครอง แร่ที่มีอยู่ในเขตพื้นที่ตามคำขอยังเป็นสมบัติของรัฐอยู่ ถ้ามีผู้มาขุดแร่ต้องถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหายโดยตรงโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5812/2533 คดีระหว่างบริษัท อวนินทร์ จำกัด โจทก์ นาย ประสิทธิ์ ตันติเวชกุล กับพวก จำเลย ประเด็นอื่นที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ที่ 4 ฟังขึ้น และกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาได้”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share