คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8678/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะหยุดกิจการของตนได้โดยจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างที่หยุดกิจการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ แต่ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดวิธีการในการหยุดกิจการไว้ว่าให้นายจ้างกระทำโดยวิธีใด นายจ้างจึงสามารถกำหนดวิธีการหยุดกิจการให้เหมาะสมแก่ความจำเป็นของกิจการนายจ้างได้ ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการโดยโจทก์แบ่งลูกจ้างออกเป็น 3 กลุ่ม ให้ลูกจ้างแต่ละกลุ่มสลับกันหยุดงานกลุ่มละ 6 วัน เป็นวิธีการการลดกำลังการผลิตโดยมีระยะเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร คือในระหว่างวันที่ 22 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2545 และระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดหรือลูกจ้างกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหยุดงานเป็นการเฉพาะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 27/2545 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า วิธีการที่โจทก์แบ่งลูกจ้างออกเป็น 3 กุล่ม แล้วให้ลูกจ้างแต่ละกลุ่มสลับกันหยุดงานกลุ่มละ 6 วัน โดยเริ่มต้นหยุดตามประกาศของโจทก์ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2545 และหยุดครั้งที่สองตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2545 เป็นการหยุดกิจการบางส่วนเป็นชั่วคราวตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะหยุดกิจการของตนได้โดยจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างที่หยุดกิจการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้วันก่อนนายจ้างหยุดกิจการ แต่ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดวิธีการในการหยุดกิจการไว้ว่าให้นายจ้างกระทำโดยวิธีใด นายจ้างจึงสามารถกำหนดวิธีการหยุดกิจการให้เหมาะสมแก่ความจำเป็นของกิจการของนายจ้างได้ ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการโดยโจทก์แบ่งลูกจ้างออกเป็น 3 กลุ่ม ให้ลูกจ้างแต่ละกลุ่มสลับกันหยุดงานกลุ่มละ 6 วัน เป็นวิธีการการลดกำลังการผลิตโดยเฉลี่ยการใช้แรงงานให้มีจำนวนน้อยลงจึงเป็นการหยุดกิจการบางส่วนวิธีหนึ่ง เมื่อเป็นการลดกำลังการผลิตโดยมีระยะเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควรคือในระหว่างวันที่ 22 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2545 และระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2545 และโจทก์ได้แบ่งคนงานทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่ม สลับกันหยุดงานเท่า ๆ กัน โดยในการหยุดงานครั้งแรกให้ลูกจ้างกลุ่มแรกหยุดงานตั้งแต่วันที่ 22 ถึงวันที่ 27 เมษายน 2545 ลูกจ้างกลุ่มที่สองหยุดงานตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2545 และลูกจ้างกลุ่มที่สามหยุดงานตั้งแต่วันที่ 6 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2545 ส่วนการหยุดงานครั้งที่สองตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2545 ก็ได้ให้ลูกจ้างสลับกันหยุดเช่นเดียวกับการหยุดงานในครั้งแรก โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งโดยให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดหรือลูกจ้างกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหยุดงานเป็นการเฉพาะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share