คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3062/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ แต่จำเลยที่ 1 ก็อุทธรณ์คัดค้านดุลพินิจในการลงโทษของศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะพิพากษายืนให้คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิต แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นอ้างเหตุว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ถึงที่สุดแล้ว จึงไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกา ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงไม่ตรงตามข้อเท็จจริงและ บทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งจำเลยที่ 1 ต้องขังในเรือนจำและยังไม่ได้รับอนุญาตให้คัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาต่อศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อาจทราบเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยละเอียดถี่ถ้วนในข้อที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจัดทำฎีกาเพื่อโต้แย้งคัดค้าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ กรณีถือได้ยว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่มีเหตุสมควรขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖ ป.อ. มาตรา ๓๓, ๔๙, ๕๘, ๙๑, ๙๒ ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง, ๖๖ วรรคสอง ป.อ. มาตรา ๘๓ ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๒ (๑) คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา จำเลยที่ ๒ ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ตาม ป.วิ.อ มาตรา ๒๔๕
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา โดยขอสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ และ ขอกระดาษแบบพิมพ์ที่ใช้ในศาลด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน คดีของจำเลยที่ ๑ จึงถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๔๕ วรรคสอง จำเลยที่ ๑ จึงไม่อาจยื่นฎีกา ยกคำร้องของจำเลยที่ ๑ และแจ้งคำสั่งศาลให้จำเลยที่ ๑ ทราบโดยหนังสือศาลชั้นต้นลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ว่า ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ขยายระยะเวลาฎีกา
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาและไม่คัดสำเนาคำพิพากษาให้
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน แต่ให้ศาลชั้นต้นคัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งฉบับโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า คดีมีเหตุสมควรขยายระยะเวลาฎีกาให้ จำเลยที่ ๑ หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ แต่จำเลยที่ ๑ ก็อุทธรณ์คัดค้านดุลพินิจในการลงโทษของศาลชั้นต้น ดังนั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ จะได้พิพากษายืนให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ จำคุกตลอดชีวิตตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ก็ยังไม่ถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๔๕ วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นอ้างเหตุว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่อาจยื่นฎีกาจึงไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกา ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงไม่ตรงตามข้อเท็จจริงและบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งยังปรากฏด้วยว่า จำเลยที่ ๑ ต้องขังในเรือนจำในระหว่างพิจารณามาตลอดและยังไม่ได้รับอนุญาตให้คัดสำเนาคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ในวันที่จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาต่อศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๑ ย่อมไม่อาจทราบเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ โดยละเอียดถี่ถ้วนในข้อที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์คัดค้านว่า ศาลชั้นต้นรับฟัง ข้อเท็จจริงผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากสำนวนความ เป็นเหตุให้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ในสถานหนัก จำเลยที่ ๑ จึงไม่อาจจัดทำฎีกาเพื่อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ได้ กรณีถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่มีเหตุสมควรขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลยที่ ๑ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓ ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕ ที่ศาลล่างทั้งสอง ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้น และศาลฎีกาเห็นสมควร ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ ๑ ออกไป ๓๐ วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้
พิพากษากลับ ให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ ๑ ออกไป ๓๐ วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา ศาลฎีกาฉบับนี้ให้จำเลยที่ ๑ ฟัง.

Share