คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3757/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโดยระบุข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินที่จะขายพอสมควรแก่กรณีแล้ว ถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายและระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีล้มละลายหากผู้ใดสนใจจะเข้าประมูลซื้อมีความสงสัยประการใดหรืออยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมประการใด ย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินตลอดจนหลักฐานทางราชการได้ก่อนเข้าทำการประมูล เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบล่วงหน้าก่อนทำการขายทอดตลาดกว่าหนึ่งเดือนการที่ผู้ร้องไม่ได้ทำการตรวจสอบหลักฐานทางราชการก่อนทำการประมูล จะมาอ้างภายหลังว่าเข้าใจผิดคิดว่าที่ดินที่ประมูลซื้อได้มาเป็นที่ดินติดต่อฝืนเดียวกันเมื่อมีที่ดินของบุคคลอื่นปะปนอยู่ก็จะมาขอให้ศาลเพิกถอนการขายเสียเช่นนี้ไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้กระทำได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินรวม 450 แปลง ของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 21,500,000 บาท และได้วางเงินมัดจำแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเงินจำนวน 7,165,833 บาท ต่อมาผู้ร้องได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกไปตรวจสอบแนวเขตที่ดินที่ได้ประมูลซื้อได้ปรากฏว่าที่ดินไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันโดยมีที่ดินของบุคคลอื่นปะปนอยู่ด้วยจำนวน 3 แปลง ผู้ร้องไม่เคยทราบมาก่อนว่า บริเวณที่ดินดังกล่าวจะมีที่ดินของบุคคลอื่นปะปนอยู่ ทั้งประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่ได้ระบุว่าที่ดินที่ขายทอดตลาดไม่ได้มีเนื้อที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โดยมีที่ดินของบุคคลอื่นเป็นถนนคั่นอยู่ ถือได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินผิดไปจากความเป็นจริง โดยปกปิดข้อความจริงเกี่ยวกับสภาพและคุณสมบัติของที่ดินอันควรแจ้งให้ประชาชนทั่วไปทราบ เป็นการดำเนินการบังคับคดีที่ผิดระเบียบและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หากผู้ร้องทราบความจริงมาก่อน ผู้ร้องจะไม่เข้าประมูลในการขายทอดตลาดที่ดินรายนี้ การที่ผู้ร้องเข้าประมูลจึงเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดที่ดินรายนี้ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนเงินมัดจำจำนวน7,165,833 บาท แก่ผู้ร้องด้วย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวในประกาศได้ระบุเลขที่ดินเป็นแปลงรวมทั้งหมด 450 แปลง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ125 ไร่ 37 ตารางวา ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ประกาศผิดไปจากความเป็นจริง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ประกาศว่าที่ดินจะขายมีเนื้อที่ดินติดต่อเป็นผืนเดียวกันการที่มีที่ดินของบุคคลอื่นซึ่งมีสภาพเป็นแนวถนนปะปนอยู่ด้วยไม่ทำให้การประกาศขายทอดตลาดที่ดินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ชอบเพราะในประกาศขายทอดตลาดที่ดินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่า การรอนสิทธิ ค่าภาษีอากรต่าง ๆเรื่องเขตเนื้อที่ การบอกประเภทและสภาพของทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่รับรองและไม่รับผิดชอบ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องไปตรวจสอบสภาพที่ดินด้วยตนเองก่อนที่จะเข้าประมูลซื้อหรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินที่จะขายทอดตลาดจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่ผู้ร้องหาได้กระทำไม่ จึงเป็นความประมาทของผู้ร้องเอง นอกจากนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดเมื่อพ้นกำหนด 8 วัน นับแต่ทราบการขายทอดตลาดที่ดินผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกสารหมาย ค.1 ได้ระบุเลขที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ทุกแปลงรวม 450 แปลง เนื้อที่ทั้งหมดโดยประมาณ ตลอดทั้งระบุชัดว่าทิศเหนือและทิศตะวันออกติดทางสาธารณประโยชน์ ทิศใต้และทิศตะวันตกติดที่ดินนางพูนลาภ อัศวรักษ์ ทั้งได้ระบุเส้นทางที่จะไปยังที่ดินดังกล่าวโดยละเอียดกับมีคำเตือนผู้ซื้อว่า “การรอนสิทธิค่าภาษีอากรต่าง ๆ เรื่องเขตเนื้อที่ การบอกประเภทและสภาพของทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่รับรองและไม่รับผิดชอบ ฯลฯ”เห็นว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโดยระบุข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินที่จะขายพอสมควรแก่กรณีแล้ว ถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายและระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีล้มละลาย ตามฎีกาของผู้ร้อง หากผู้ใดสนใจจะเข้าประมูลซื้อมีความสงสัยประการใดหรืออยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมประการใด ย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินตลอดจนหลักฐานทางราชการได้ก่อนเข้าทำการประมูลเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบล่วงหน้าทั่วกันก่อนทำการขายทอดตลาดทรัพย์กว่าหนึ่งเดือน การที่ผู้ร้องไม่ได้ทำการตรวจสอบหลักฐานทางราชการก่อนทำการประมูลแล้วจะมาอ้างภายหลังว่าเข้าใจผิดคิดว่าที่ดินที่ประมูลซื้อได้มาเป็นที่ดินติดต่อผืนเดียวกัน เมื่อทราบภายหลังว่ามีที่ดินของบุคคลอื่นปะปนอยู่ แล้วจะมาขอให้ศาลเพิกถอนการขายเสียเช่นนี้ไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้กระทำได้
พิพากษายืน

Share