คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5804/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 มิได้กำหนดให้ไม้มะกอกทุกชนิดในป่าเป็นไม้หวงห้าม คงมีลำดับที่ 110 ที่กำหนดให้มะเกิ้ม มะเหลี่ยม มะกอกเหลี่ยม มะจิ้น มะกอกเลือด มะกอกเกลื้อน มะเลื่อมและมะกอกเลื่อม ซึ่งเป็นพรรณไม้สกุล Canarium เท่านั้น เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้มะกอกทั่วไปซึ่งมิใช่พรรณไม้ในสกุลดังกล่าว จึงมิใช่ไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 48, 69, 70, 73, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบไม้มะกอกของกลาง และจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และมีไม้อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง แต่ปฏิเสธข้อหาร่วมกันรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งไม้ที่รู้ว่าได้มาโดยการกระทำผิดดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 14), 31 วรรคสอง (2) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ประกอบกับการกระทำของจำเลยทั้งสามนับว่าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งป่าไม้นับวันจะเหลือน้อยลงจึงไม่มีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุก ริบของกลาง ส่วนคำขอให้จ่ายสินบนนำจับนั้น เมื่อศาลลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่ลงโทษปรับจึงไม่อาจสั่งให้จ่ายสินบนนำจับได้ คำขอส่วนนี้จึงให้ยก และให้ยกฟ้องข้อหาร่วมกันรับไว้ด้วยประการใดซึ่งไม้ที่รู้ว่าได้มาโดยการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 70
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 69 วรรคสอง (2), 73 วรรคสอง (2) ความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยในประการแรกก่อนว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองหรือไม่ ตามคำฟ้องโจทก์ข้อ 2 ข.ระบุว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไม้มะกอกซึ่งยังมิได้แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามฟ้องข้อ 1 และตามคำฟ้องข้อ 1 ระบุว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 กำหนดให้ไม้มะกอกในป่าทั่วราชอาณาจักรเป็นไม้หวงห้ามธรรมดาประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ลำดับที่ 110 แต่ปรากฏว่าบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมิได้กำหนดให้ไม้มะกอกทุกชนิดในป่าเป็นไม้หวงห้ามแต่อย่างใด คงมีลำดับที่ 110 ที่กำหนดให้มะเกิ้ม มะเหลี่ยม มะกอกเหลี่ยม มะจิ้น มะกอกเลือด มะกอกเกลื้อน มะเลื่อมและมะกอกเลื่อม ซึ่งเป็นพรรณไม้สกุล Canarium เท่านั้นเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้มะกอกทั่วไปซึ่งมิใช่พรรณไม้ในสกุลดังกล่าว จึงมิใช่ไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองตามฟ้อง แม้จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ แต่เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำไม้มะกอก โดยเลื่อยตัดฟันออกจากต้นแล้วเลื่อยเป็นท่อนภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย และไม้มะกอกของกลางที่เจ้าพนักงานยึดได้มีจำนวน 35 ท่อน ปริมาตรรวมทั้งสิ้น 6.93 ลูกบาศก์เมตรนั้น แม้จะมิใช่ไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันเข้าไปตัดฟันจนขาดออกจากต้น พฤติการณ์แห่งคดีนับได้ว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรง ทั้งการตัดไม้ทำลายป่านอกจากจะส่งผลเสียหายแก่ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่ายิ่งต่อประเทศชาติแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศน์ของป่าไม้และคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เหมาะสมแก่ความผิดของจำเลยทั้งสามแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตหลังจากลดโทษให้แล้ว มีกำหนด 1 ปี 6 เดือนนั้นหนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี ให้ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share