คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3061/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของกรมสรรพสามิตจำเลยซึ่งกำหนดให้ผู้ประมูลแข่งขันเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นผู้รับการทำและขายส่งสุราขาวผสมประเภทเสียภาษีรายเทต้องเสนอจะชำระค่าธรรมเนียมพิเศษเป็นรายเทโดยผู้เสนอค่าธรรมเนียมพิเศษสูงสุดจะเป็นผู้ประมูลได้นั้น มิใช่การกำหนด อัตราภาษีหรืออัตราค่าธรรมเนียม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 (1) แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 จึงไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎกระทรวง
อ.เป็นผู้ประมูลได้โดยเสนอจะชำระค่าธรรมเนียมพิเศษเทละ 429.89 บาท และโจทก์รับโอนสิทธิหน้าที่ตามสัญญาจาก อ. เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิทำสุราในโรงงานและใช้อุปกรณ์การผลิตของจำเลยได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนอย่างอื่น ทั้งมีสิทธิจำหน่ายสุราแต่ผู้เดียวภายในเขตการจำหน่ายได้ผลประโยชน์ระยะยาวถึง 10 ปี ดังนี้ ค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวจึงมิใช่ภาษีหรือค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติสุรา แต่เป็นเงินค่าตอบแทนที่ให้แก่รัฐในการที่รัฐให้สิทธิพิเศษตามนัยที่กล่าวแล้ว ทั้งมิใช่เงินที่จำเลยเรียกเก็บนอกเหนือไปจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 และเป็นความสมัครใจของผู้เข้าประมูลเองที่ยอมให้ค่าตอบแทนแก่รัฐตามจำนวนที่เสนอในการยื่นประมูล จึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ ฉะนั้น ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า ค่าธรรมเนียมพิเศษเป็นโมฆะจึงมีการออกกฎกระทรวงการคลังฉบับที่ 59 (2518) นำเอาค่าธรรมเนียมพิเศษจำนวนหนึ่งมาเพิ่มเป็นค่าภาษีสุรา เป็นการใช้กฎหมายรับรองสิ่งที่เป็นโมฆะ ภาษีสุราที่เพิ่มขึ้นตกเป็นโมฆะไปด้วย จึงย่อมเป็นอันตกไป เพราะค่าธรรมเนียมพิเศษมิได้เป็นโมฆะดังที่โจทก์อ้าง
โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมพิเศษมาเป็นวิธีกำหนดจำนวนน้ำสุราให้โจทก์นำออกขายเพื่อเสียภาษีเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 77,391 บาท เท โดยโจทก์สมัครใจเอง เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการตั้งโรงงานทำสุราเพื่อจำหน่ายและทำการค้าสุราทุกชนิด จึงอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะทำและขายส่งสุราตามวัตถุประสงค์ของสัญญาได้ ส่วนต่อมาจะทำหรือขายได้ตามจำนวนที่ตกลงกันหรือไม่ เป็นเรื่องขึ้นอยู่กับความสามารถของโจทก์ในการดำเนินการ โจทก์เป็นพ่อค้าสุราย่อมมีความรู้พอที่จะคำนวนเรื่องการทำและขายสุราได้ก่อนที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย แสดงว่าโจทก์ต้องรู้ข้อเท็จจริงตั้งแต่แรกว่าทำได้ โจทก์จึงมาโต้แย้งวัตถุประสงค์ที่ทำสัญญากับจำเลยเป็นเรื่องพ้นวิสัยหาไม่ได้
โจทก์ถือว่าโจทก์มีสิทธิที่จะไม่ต้องชำระค่าปรับตามสัญญาจึงไม่ชำระค่าปรับให้จำเลย การโต้แย้งสิทธิอยู่ที่การไม่ชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์มาฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้ เท่ากับให้แสดงว่าโจทก์ไม่ได้เป็นหนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีเมื่อโจทก์ถูกจำเลยฟ้องให้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น หาใช่เป็นผู้ฟ้องคดีเสียเองไม่ โจทก์ยังมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้ในเมื่อเห็นว่าตนไม่รับผิด จึงไม่มีการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ศาลย่อมไม่รับวินิจฉัยให้ส่วนในเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าโจทก์ไม่ต้องเสียเงินค่าปรับฐานทำสุราต่ำกว่ากำหนดและขอคืนค่าปรับที่ชำระไปแล้วนั้นมีข้อโต้เถียงกันว่าสัญญาเป็นโมฆะโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดและมีสิทธิขอคืนเงินส่วนที่ชำระให้แก่จำเลยไปแล้วแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ จึงมีการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่๑ ทำสัญญาในการรับทำและขายส่งสุราในเขตจำหน่ายของโรงงานสุราปราจีนบุรี โดยโจทก์รับโอนสิทธิและหน้าที่มาจากนายอนันต์ จำเลยได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษในการทำและขายสุราจากโจทก์โดยไม่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มีลักษณะเป็นภาษีอากรเถื่อนขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเป็นโมฆะ ต่อมาจำเลยซึ่งทราบอยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าว จึงออกกฎกระทรวงฉบับที่ ๕๙ (๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๔๗ เพิ่มอัตราภาษีสุราและลดค่าธรรมเนียมพิเศษลงเท่ากับภาษีสุราและภาษีมหาดไทยที่เพิ่มขึ้นซึ่งโจทก์ถูกบังคับให้เสียค่าธรรมเนียมพิเศษไปแล้วเป็นเงิน ๑๗,๖๐๕,๑๐๐ บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้คืน และหลังจากที่ออกกฎกระทรวงดังกล่าวแล้วจำเลยเปลี่ยนวิธีจากการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษมาเป็นกำหนดจำนวนน้ำสุราที่รับทำแต่ละเดือนโดยเพิ่มจำนวนน้ำสุราให้มากขึ้นเพื่อหาประโยชน์จากค่าปรับภาษีสุราที่ผู้รับทำการทำและขายและขายสุราไม่สามารถทำได้ตามจำนวนที่กำหนด ซึ่งโจทก์จำต้องปฏิบัติตามเพราะลงทุนทำสุราไว้เป็นจำนวนมากแล้ว แต่ก็เป็นการพ้นวิสัย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆะจึงได้บอกเลิกสัญญากับจำเลย ซึ่งในการนี้จำเลยได้เรียกค่าปรับจากโจทก์เป็นเงิน ๕,๖๕๐,๐๐๐ บาท จึงขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษและค่าปรับที่โจทก์ชำระไปแล้วกับมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยไม่มีสิทธิปรับโจทก์ฐานชำระภาษีสุราต่ำกว่ากำหนดในสัญญาประจำเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ และไม่มีสิทธิปรับโจทก์ฐานเลิกสัญญา
จำเลยทั้งสองให้การว่า ค่าธรรมเนียมพิเศษตามฟ้องไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน กฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ ๕๙ (๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยชอบด้วยกฎหมาย และข้อกำหนดในสัญญาที่ให้โจทก์ทำสุราเพื่อเสียภาษีรายเท หากทำและเสียต่ำกว่ากำหนดยอมให้ปรับนั้น โจทก์สมัครใจเข้าผูกพันทำสัญญาเอง เป็นเหตุผลเฉพาะตัวโจทก์และสามารถปฏิบัติได้ไม่พ้นวิสัยที่จะตกเป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาโจทก์ก็ต้องเสียค่าปรับโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน และไม่มีสิทธิขอให้ศาลแสดงว่าจำเลยไม่มีสิทธิปรับโจทก์ทั้งในฐานทำสุราไม่ครบจำนวนและในการเลิกสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับประเด็นข้อแรกที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาว่าคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๓๒๘๓๘/๒๕๑๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ เป็นการกำหนดวิธีการเงื่อนไขและข้อกำหนดในการทำสุราตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ต้องออกเป็นกฎกระทรวงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคำสั่งที่ ๓๒๘๓๘/๒๕๑๗ ซึ่งกำหนดให้ผู้ประมูลเสนอจะชำระค่าธรรมเนียมพิเศษ มิใช่การกำหนดอัตราภาษีหรืออัตราค่าธรรมเนียมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ จึงไม่จำต้องออกเป็นกฎกระทรวง ที่โจทก์ฎีกาตามประเด็นนี้ต่อไปว่า คำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าวมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษตามรายเท เป็นลักษณะอย่างเดียวกับการเรียกเก็บภาษีสุราตามรายเท ซึ่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มิได้ให้อำนาจที่จะเรียกเก็บได้ จึงเป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตกเป็นโมฆะ จำเลยต้องคืนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ได้รับไปจากโจทก์จำนวน ๑๗,๖๐๕,๑๐๐.๗๕ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วคำสั่งจำเลยที่ ๒ ที่ ๓๒๘๓๘/๒๕๑๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการประมูลเพื่อแต่งตั้งผู้รับทำการทำและขายส่งสุราขาว – ผสม โรงงานสุรา กรมสรรพสามิตโดยให้ผู้เสนอเงินค่าธรรมเนียมพิเศษสูงสุดมีสิทธิได้รับพิจารณาเป็นผู้ประมูลได้ อันมุ่งหมายจะวางระเบียบให้กรมสรรพสามิตจำเลยที่ ๑ คัดเลือกเพื่อแต่งตั้งผู้รับใบอนุญาตทำสุราในโรงงานสุรา กรมสรรพสามิต โดยวิธีประมูลเงินค่าธรรมเนียมพิเศษรายเท เนื่องจากจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตให้ทำสุราตามพระราชบัญญัติสุรา ค่าธรรมเนียมพิเศษตามคำสั่งจำเลยที่ ๒ ไม่มีกำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีและค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ผู้เข้าประมูลเป็นฝ่ายเสนอเองว่าจะชำระเงินค่าธรรมเนียมพิเศษให้กรมสรรพสามิตจำเลยที่ ๑ รายเทเป็นเงินเทละเท่าใดโดยจำเลยมิได้เรียกร้องกำหนดอัตราขั้นต่ำของเงินค่าธรรมเนียมพิเศษไว้เป็นเรื่องของผู้เข้าประมูลพิจารณากำหนดขึ้นเอง เจตนาของผู้เข้าประมูลที่เสนอค่าธรรมเนียมพิเศษให้สูงก็เพื่อต้องการจะตัดผู้เข้าประมูลแข่งขันรายอื่นให้ตนได้สิทธิเข้าทำสัญญาเป็นผู้รับทำการทำและขายส่งสุราในโรงงานสุราของกรมสรรพสามิต เพราะผู้เข้าประมูลได้ทราบระเบียบแล้วว่าผู้เสนอค่าธรรมเนียมพิเศษสูงสุดจะได้รับพิจารณาให้เป็นผู้ประมูลได้ นายอนันต์ยื่นประมูลทำการทำและขายส่งสุรารายนี้โดยทราบแจ้งความของกรมสรรพสามิตและคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๓๒๘๓๘/๒๕๑๗ ตลอดจนสัญญาสำหรับโรงงานแห่งนี้เป็นที่เข้าใจดีแล้ว จึงเสนอจะชำระค่าธรรมเนียมพิเศษให้กรมสรรพสามิตเป็นเงินเทละ ๔๒๙.๘๙ บาท ดังที่ปรากฏในเอกสารการยื่นประมูลหมาย ล.๕ เป็นผู้เสนอค่าธรรมเนียมพิเศษรายเทสูงสุดจึงได้เข้าทำสัญญารับทำการทำและขายส่งสุราโรงงานสุรา กรมสรรพสามิต จังหวัดปราจีนบุรี แล้วโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาให้โจทก์ ปรากฏตามสัญญาที่ทำไว้กับกรมสรรพสามิตจำเลยที่ ๑ โจทก์มีสิทธิทำสุราในโรงงานสุราของจำเลย ด้วยการใช้โรงงานตลอดจนอุปกรณ์การผลิตสุราและบรรดาทรัพย์สินอื่นๆ ของจำเลย ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยไม่ต้องเสียเงินค่าตอบแทนอย่างอื่น ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานสุราของตนเอง ยังมีสิทธิเปลี่ยนแปลงขยายเพิ่มเครื่องจักรในการทำสุราด้วย และมีสิทธิจำหน่ายสุราภายในเขตการจำหน่ายได้ผลประโยชน์ระยะยาวถึง ๑๐ ปี การเปิดประมูลเพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้รับใบอนุญาตทำและขายส่งสุราย่อมมีความหมายเข้าใจกันได้ในตัวว่า จะได้สิทธิในการทำและจำหน่ายสุราภายในเขตแต่ผู้เดียวตลอดอายุสัญญา พยานที่โจทก์นำสืบก็เบิกความว่าโจทก์ได้สิทธิพิเศษในการจำหน่ายสุรา ส่วนในสัญญาหมาย จ.ล.๒ ข้อ ๒๕ ที่ระบุว่าไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะอนุญาตให้บุคคลอื่นทำและขายสุราก็คงจะใช้ในกรณีที่โจทก์ทำสุราไม่พอความต้องการ ดังนั้น ค่าธรรมเนียมพิเศษนี้จึงมิใช่ภาษีหรือค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติสุราแต่เป็นเงินค่าตอบแทนที่ให้แก่รัฐในการที่รัฐให้สิทธิพิเศษตามนัยที่กล่าวมาแล้ว มิใช่เงินที่จำเลยเรียกเก็บนอกเหนือไปจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ และเป็นความสมัครใจของผู้เข้าประมูลเองที่ยอมให้ค่าตอบแทนแก่รัฐตามจำนวนที่เสนอในการยื่นประมูล จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังที่โจทก์อ้าง โจทก์เองก็คงรู้ดีว่าเงินค่าธรรมเนียมพิเศษเป็นค่าตอบแทน จึงมีการเสนอประมูลให้จำนวนเงินสูงตัดผู้เข้าประมูลแข่งขันรายอื่นแล้วหวังจะมาหาทางเจรจากับจำเลยให้มีการลดจำนวนเงินลงภายหลัง เมื่อได้สิทธิเข้าทำสัญญาดังที่กล่าวอ้างในฎีกา
โจทก์ฎีกาในประเด็นข้อ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ ตระหนักอยู่ว่าค่าธรรมเนียมพิเศษเป็นโมฆะจึงออกกฎกระทรวงฉบับที่ ๕๙ (๒๕๑๘) นำเอาค่าธรรมเนียมพิเศษจำนวนหนึ่งมาเพิ่มเป็นค่าภาษีสุรา เป็นการใช้กฎหมายรับรองสิ่งที่เป็นโมฆะ ภาษีสุราที่เพิ่มขึ้นตกเป็นโมฆะไปด้วย ขณะที่จำเลยทำสัญญาไว้กับนายอนันต์นั้นภาษีสุราที่นำมาคำนวณเป็นต้นทุนและราคาขายเทละ ๕๓.๒๐ บาท แต่จำเลยปรับโจทก์ฐานทำสุราไม่ครบตามอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นโดยโจทก์ไม่มีสิทธิ์ขึ้นราคาสุรามาชดเชยไม่ชอบด้วยความยุติธรรม โจทก์ชอบที่จะได้เงินค่าปรับที่เสียเกินไปกว่าอัตราภาษีเดิมคืน ศาลฎีกาเห็นว่าที่โจทก์อ้างว่าอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นตามกฎกระทรวงการคลังฉบับที่ ๕๙ (๒๕๑๘) เป็นโมฆะ เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมารับรองค่าธรรมเนียมพิเศษที่ตกเป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วว่าค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะ ดังนั้น ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวย่อมเป็นอันตกไป คงมีปัญหาว่าจำเลยปรับโจทก์ตามอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น เป็นการชอบหรือไม่พิจารณาข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.ล.๒ ในข้อ ๙ โจทก์ซึ่งเข้าเป็นคู่สัญญาแทนนายอนันต์ยอมเสียเงินค่าภาษีสุราตามอัตราที่กำหนดไว้ กับยอมเสียค่าปรับฐานทำสุราเสียเงินค่าภาษีต่ำกว่ากำหนดเป็นเงินเท่ากับค่าภาษีสุราที่ต่ำกว่ากำหนดนั้น และข้อ ๑๗.๑ มีความว่า ผู้รับอนุญาตยอมปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและคำสั่งอันเกี่ยวกับกิจการสุราของจำเลยทั้งสองที่ออกใช้อยู่ในปัจจุบัน และที่จะพึงออกใช้ในภายหน้าโจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องชำระภาษีสุราตามกฎกระทรวงการคลังฉบับที่ ๕๙ (๒๕๑๘) ไม่มีเหตุที่จะทำให้เข้าใจว่าจำเลยแปลงค่าธรรมเนียมพิเศษบางส่วนมาเพิ่มเป็นค่าภาษีสุราดังที่โจทก์อ้าง การกำหนดราคาสุราตามสัญญาก็ตกลงกันไว้ในข้อ ๘ ว่าต้องไม่สูงกว่าราคาตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญา ไม่มีเงื่อนไขที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญาจะต้องอนุญาตให้โจทก์เพิ่มราคาให้สูงขึ้นแต่อย่างใด การที่จำเลยปรับโจทก์ตามอัตราภาษีสุราที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ให้โจทก์เพิ่มราคาสุราจึงไม่ผิดสัญญาหรือไม่ชอบอย่างใด โจทก์จะเรียกเอาค่าปรับภาษีสุราส่วนที่เกินอัตราภาษีเดิมจำนวน ๓,๑๖๓,๖๑๕.๘๔ บาท คืนจากจำเลยหาได้ไม่
โจทก์ฎีกาในประเด็นข้อ ๓ ว่า การเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมพิเศษเป็นวิธีกำหนดจำนวนน้ำสุราให้โจทก์นำออกขาย เพื่อเสียภาษีเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๗๗,๓๙๑ เท ตามสัญญหมาย จล.๔ มีวัตถุประสงค์พ้นวิสัยที่จะทำได้ ซึ่งคู่สัญญาต่างก็รู้กันอยู่แล้ว สัญญาจึงตกเป็นโมฆะ ศาลฎีกาเห็นว่าตามฎีกาโจทก์ถือว่าวัตถุประสงค์ของสัญญาซึ่งทำกับจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย จ.ล.๔ เป็นการพ้นวิสัย ข้อนี้ปรากฏว่าโจทก์เองสมัครใจโดยพิจารณาแล้วได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย ล.๙ แสดงความประสงค์ไปยังจำเลยที่ ๑ ขอเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมพิเศษจำนวนน้ำสุราเพื่อเสียภาษี โจทก์จำเลยจึงทำสัญญาดังกล่าวเพิ่มเติมขึ้น โจทก์ยอมรับในฎีกาว่าวัตถุประสงค์แห่งสัญญานี้คือการทำและขายส่งสุราเมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจัดตั้งโรงงานทำสุราเพื่อจำหน่าย และทำการค้าสุราทุกชนิดจึงอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะทำและขายส่งสุราตามวัตถุประสงค์ของสัญญาได้ โจทก์ก็ได้เข้ารับช่วงกิจการทำและขายส่งสุรารายนี้ทำมาแล้ว ๕ เดือน โจทก์ซึ่งเป็นพ่อค้าสุราย่อมมีความรู้ความสามารถพอจะคิดคำนวณเรื่องการทำและขายส่งสุราได้ก่อนที่จะเข้าทำสัญญาตกลงกับจำเลยที่ ๑ ส่วนต่อมาจะทำหรือขายได้ตามจำนวนที่ตกลงกันหรือไม่ เป็นเรื่องขึ้นอยู่กัยความสามารถของโจทก์ในการดำเนินการต่อไป การเสนอของโจทก์เช่นนั้นแสดงว่าโจทก์ต้องรู้ข้อเท็จจริงตั้งแต่แรกว่าทำได้ โจทก์จะมาฎีกาโต้แย้งอ้างว่าวัตถุประสงค์ที่ทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ เป็นเรื่องพ้นวิสัย รับฟังไม่ได้ โจทก์ต้องชำระเงินค่าปรับฐานทำสุราไม่ครบตามจำนวนที่ค้างอยู่ หากชำระไปแล้วก็ไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะเรียกคืน
สำหรับประเด็นข้อ ๔ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งแสดงสิทธิว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าปรับในการเลิกสัญญาเป็นจำนวนเงิน ๕,๖๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระค่าปรับและเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาที่ทำไว้ เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ถือว่าโจทก์มีสิทธิที่จะไม่ต้องชำระหนี้ค่าปรับตามสัญญา จึงไม่ชำระค่าปรับให้จำเลย การโต้แย้งสิทธิอยู่ที่การไม่ชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์มาฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้ เท่ากับให้แสดงว่าโจทก์ไม่ได้เป็นหนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีเมื่อโจทก์ถูกจำเลยฟ้องให้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น หาใช่เป็นผู้ฟ้องคดีเสียเองไม่ โจทก์ยังมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้ในเมื่อเห็นว่าตนไม่ต้องรับผิด จึงไม่มีการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าโจทก์ไม่ต้องซื้อเสียเงินค่าปรับฐานทำสุราต่ำกว่ากำหนดยังได้รับการวินิจฉัยนั้น ก็เพราะมีข้อโต้เถียงกันว่าสัญญาเป็นโมฆะโจทก์ไม่ต้องรับผิดในเรื่องเงินค่าปรับฐานทำสุราไม่ครบ และมีสิทธิขอคืนเงินส่วนที่ได้ชำระให้แก่จำเลยไปแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้จึงมีการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ซึ่งต่างกับประเด็นข้อนี้
เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนตามที่เรียกร้องก็ไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยและต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์อย่างไร
พิพากษายืน.

Share