แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วนั้นจะต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนพ.ศ.2494 มาตรา 27 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2506 ก็แต่เฉพาะกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจ เปลี่ยนโทษจำคุกหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยเป็นให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนบางประการเท่านั้น มิได้ห้ามคู่ความที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรใบละ 100 บาทจำนวน 3 ฉบับ ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นธนบัตรซึ่งทำปลอมเลียนแบบ แล้วจำเลยใช้ธนบัตรปลอมดังกล่าวชำระหนี้ในการซื้อสินค้า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244, 245 และขอให้ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 245 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 คงจำคุก 1 ปี แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งจำเลยไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กมีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 31, 32 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 9, 10 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชนพิจารณาแล้ว พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กมีกำหนดขั้นต่ำ1 ปี ขั้นสูง 2 ปี ซึ่งไม่เกิน 3 ปี คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 27(2) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 7 แต่ศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกข้อกฎหมายในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ขึ้นพิจารณาอันเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ตามที่แก้ไขซึ่งบัญญัติว่า “คดีที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนได้พิพากษา หรือมีคำสั่งแล้วนั้นให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้เหมือนอย่างคดีธรรมดา ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(1) ฯลฯ
(2) ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 31 เว้นแต่ในกรณีที่การใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้น เป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กและเยาวชนไปเพื่อการกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลากักและอบรมเกินสามปี
(3) ฯลฯ ”
ศาลฎีกาเห็นว่าตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คดีที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วนั้น จะต้องห้ามอุทธรณ์ก็แต่เฉพาะกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุก หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยเป็นให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนบางประการเท่านั้น มิได้ห้ามคู่ความที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ฉะนั้น เมื่อคดีนี้ศาลคดีเด็กและเยาวชนใช้ดุลพินิจให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กมีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี จำเลยจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดฎีกาโจทก์ในข้อนี้จึงตกไป
ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยโดยตลอดแล้ว เชื่อว่าจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรปลอมศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน