คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3054/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำหนังสือสัญญายินยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านโอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ 2มาชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่มีต่อผู้คัดค้านโดยทำไว้ก่อน 3 เดือนที่มีการขอให้ลูกหนี้ที่ 2ล้มละลาย แต่เมื่อผู้คัดค้านทำการโอนเงินฝากประจำดังกล่าวมาชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยโอนในวันที่มีการขอให้ลูกหนี้ที่ 2 ล้มละลายซึ่งผลของสัญญายินยอมยังคงมีอยู่ถือได้ว่าลูกหนี้ที่ 2 มีส่วนร่วมในการกระทำหรือยินยอมให้กระทำอยู่ด้วยโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ กรณีจึงต้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2522 ต่อมาศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย และความปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาคลองสาน ได้ทำหนังสือสัญญายินยอมให้ธนาคารหักบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ด้วย และธนาคารได้ใช้สิทธิหักบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 จำนวนเงิน 103,969 บาท 86 สตางค์ ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่มีการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายนอกจากนั้นภายในระยะเวลา 3 เดือนก่อนจำเลยทั้งสองถูกฟ้องขอให้ล้มละลาย จำเลยที่ 2 ได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 11 ครั้ง รวมเป็นเงิน 460,759 บาท 80 สตางค์ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาคลองสาน ได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ทั้งสองรายการดังกล่าวซึ่งรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 564,729 บาท 66 สตางค์ และให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด คืนเงิน 564,729 บาท 66 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องขอเพิกถอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 (จำเลยที่ 2)

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ยื่นคำคัดค้านว่า การนำเงินเข้าหักทอนบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เป็นไปตามข้อผูกพันในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี มิใช่เป็นการที่ลูกหนี้ที่ 2 กระทำหรือยอมให้กระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นและสำหรับการหักบัญชีเงินฝากประจำมาชำระหนี้ก็เป็นไปตามสิทธิในสัญญายินยอมซึ่งทำกันไว้ก่อนระยะเวลา 3 เดือนที่มีการขอให้ล้มละลาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่ลูกหนี้ที่ 2 นำเงินเข้าหักทอนบัญชีเป็นการเดินบัญชีสะพัดตามปกติ ไม่เป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นแต่สำหรับการที่ผู้คัดค้านนำเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ 2 มาหักบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ลูกหนี้ที่ 2 ถูกฟ้องขอให้ล้มละลาย เป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเงินฝากประจำจำนวน 103,969 บาท 86 สตางค์ โดยให้ผู้คัดค้านส่งคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การโอนบัญชีเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ 2 มาชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่ผู้คัดค้าน เป็นการกระทำของผู้คัดค้านโดยอาศัยหนังสือสัญญายินยอมของลูกหนี้ที่ 2 ที่ทำให้ไว้ในระยะเวลาเกินกว่าสามเดือนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ที่ 2 ล้มละลายแต่ในวันที่มีการโอนเงินจำนวน 103,969 บาท 86 สตางค์ดังกล่าว ผลแห่งสัญญาที่ว่านี้ก็ยังคงมีอยู่ กรณีถือได้ว่าเป็นการโอนหรือการกระทำซึ่งลูกหนี้ที่ 2 มีส่วนร่วมในการกระทำหรือยินยอมให้กระทำอยู่ด้วย มิใช่เป็นการกระทำของผู้คัดค้านฝ่ายเดียว และผู้คัดค้านรู้ดีว่าลูกหนี้ที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพราะกำลังถูกฟ้องขอให้ล้มละลาย จึงถือโอกาสอาศัยสัญญาที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำให้ไว้โอนเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่ 2 มาชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่ผู้คัดค้านประกอบกับไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 2 ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายอื่นซึ่งมีอยู่ทั้งหมดถึง 15 รายเป็นจำนวนเงิน 2,600,000 บาท การกระทำของผู้คัดค้านและลูกหนี้ที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ต้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง

พิพากษายืน

Share