คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6974/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เหตุละเมิดเกิดวันที่ 17 กรกฎาคม 2542 เมื่อนับเวลา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/5 วันครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันละเมิดคือ วันที่ 17 กรกฎาคม 2543 ตรงกับวันเข้าพรรษาเป็นวันหยุดราชการประจำปี และวันที่ 18 กรกฎาคม 2543 เป็นวันหยุดชดเชยวันอาสาฬหบูชาวันหยุดราชการประจำปี ศาลหยุดทำการ ตามมาตรา 193/8 ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะยื่นคำฟ้องคดีนี้ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่ศาลเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการได้
อายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับอายุความจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 5 ตั้งแต่มาตรา 193/1 ถึงมาตรา 193/8 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภก 4717 กรุงเทพหมานคร จากนายประพันธ์ วรกุลพิสุทธิ์ มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2542 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2542 จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บฉ 2604 ลพบุรี ด้วยความเร็วและไม่เว้นระยะห่างจากรถยนต์คันหน้าพอสมควรทำให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนท้ายรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้อย่างแรง รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้เสียหลักพุ่งเข้าชนรถยนต์กระบะที่อยู่ข้างหน้าอีกต่อหนึ่ง รถยนต์ที่โจทก์รับประกันได้รับความเสียหายโจทก์เสียค่าซ่อมรถคันดังกล่าวเป็นเงิน 60,823 บาท จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยผู้ทำละเมิด จำเลยต้องชำระเงินจำนวน 60,823 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2542 อันเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าซ่อมเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,802 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 64,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,823 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2542 แต่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน โจทก์และจำเลยท้ากันขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ หากศาลวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ยอมแพ้ หากศาลวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยยอมแพ้และยอมรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จึงพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 64,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,823 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 กรกฎาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับประกันรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภก 4717 กรุงเทพมหานคร จากนายประพันธ์ วรกุลพิสุทธิ์ มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2542 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2542 จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บฉ 2604 ลพบุรี ด้วยความเร็วและไม่เว้นระยะห่างจากรถยนต์คันหน้าพอสมควรชนท้ายรถยนต์คันที่โจทก์ได้รับประกันภัยไว้ ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหายต้องซ่อมเป็นเงิน 60,823 บาท โจทก์ได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2542 และยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์รู้เหตุละเมิดและรู้ตัวจำเลยซึ่งเป็นผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2542 โจทก์ต้องยื่นฟ้องจำเลยภายในกำหนด 1 ปี คือภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2543 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นการขยายอายุความออกไป ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เหตุละเมิดเกิดวันที่ 17 กรกฎาคม 2542 เมื่อนับเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/5 วันครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันละเมิดคือวันที่ 17 กรกฎาคม 2543 ตรงกับวันเข้าพรรษาเป็นวันหยุดราชการประจำปี และวันที่ 18 กรกฎาคม 2543 เป็นวันหยุดชดเชยวันอาสาฬหบูชาวันหยุดราชการประจำปี ศาลหยุดทำการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะยื่นคำฟ้องคดีนี้ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่ศาลเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการได้ และถือว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำละเมิดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 หาใช่เป็นการขยายอายุความออกไปดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองจะนำบทบัญญัติมาตรา 193/8 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องการนับระยะเวลามาใช้บังคับแก่การนับอายุความไม่ได้นั้น เห็นว่า อายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับอายุความจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 5 ตั้งแต่มาตรา 193/1 ถึงมาตรา 193/8 ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การนับอายุความและวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share