คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำให้การของจำเลยมีข้อความระบุไว้ว่า “จำเลยเคย เสนอเหตุผลว่า จำเลยนี้ไม่เคยติดค้างค่าจางแก่โจทก์กับพวก ดังที่กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง” ย่อมมีความหมายว่า จำเลยได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้ค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ ดังนี้ การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า ตามคำให้การของจำเลย ไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ ต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าค้างจ่ายค่าจ้างจริงตามที่โจทก์ฟ้อง จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย และพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ตามฟ้อง จึงไม่ถูกต้องกรณีมีเหตุที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้กับคดีหมายเลขดำที่ 12805/2540, 12806/2540, 13081/2540, 13096-13101/2540, 13116-13120/2540และ 13157-13158/2540 ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 20 แต่ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ถึงที่ 20 ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนโจทก์ที่ 7 ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ที่ 7 ออกเสียจากสารบบความเช่นกัน คดีคงมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะสำนวนคดีของโจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 เท่านั้น
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และ ที่ 6 เป็นลูกจ้างจำเลย ครั้งสุดท้ายโจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่เจ้าพนักงานบัญชีโจทก์ที่ 2 ทำหน้าที่ควบคุมดูแลคนงานของจำเลยโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ทำหน้าที่หัวหน้าคนงานโจทก์ที่ 1 ที่ 2ที่ 5 และที่ 6 ได้ค่าจ้างเดือนละ 32,000 บาท 16,500 บาท25,200 บาท และ 25,200 บาท ตามลำดับ ระหว่างที่โจทก์ทั้งสี่ทำงานกับจำเลย จำเลยค้างค่าจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 28 กันยายน 2540 จำนวน 37,000 บาท19,500 บาท โจทก์ที่ 5 และที่ 6 ระหว่างวันที่ 1 ถึง 30 กันยายน2540 จำนวน 25,200 บาท และ 25,200 ตามลำดับ โจทก์ทั้งสี่ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 37,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 19,500 บาทโจทก์ที่ 5 และที่ 6 จำนวนคนละ 25,200 บาท
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 มิได้รับค่าจ้างตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เงินที่โจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 เรียกให้จำเลยชดใช้คำนวณแล้วเกินความเป็นจริง โจทก์แต่ละคนทำงานกับจำเลยเพียง 3 เดือน แล้วพร้อมใจกันนัดหยุดงานติดต่อกันเกิน 3 วันทำงาน เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5และที่ 6 ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยเคยเสนอเหตุผลว่าจำเลยไม่เคยติดค้างค่าจ้างของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ศาลแรงงานกลางบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 ว่า ศาลได้ตรวจคำให้การของจำเลยโดยตลอดแล้ว จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างตามที่โจทก์ฟ้อง ถือว่าจำเลยรับว่าค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ตามฟ้อง คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทต่อไป จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ตามคำให้การของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2540ถึงวันที่ 28 กันยายน 2540 ถือว่าจำเลยยอมรับว่าค้างจ่ายค่าจ้างจริงตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 37,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 19,500 บาทโจทก์ที่ 5 และที่ 6 จำนวนคนละ 25,200 บาท
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและพิพากษาในวันเดียวกัน โดยมิได้มีการสืบพยานโจทก์จำเลย เป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ต้องนำพยานมาสืบให้สมฟ้องนั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยมีข้อความระบุไว้ว่า “จำเลยเคยเสนอเหตุผลว่าจำเลยนี้ไม่เคยติดค้างค่าจ้างแก่โจทก์กับพวกดังที่กล่าวอ้างมาในคำฟ้องแต่อย่างใด” จากข้อความในส่วนนี้ย่อมมีความหมายว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้ค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าตามคำให้การของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่28 กันยายน 2540 ต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าค้างจ่ายค่าจ้างจริงตามที่โจทก์ฟ้อง และพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 37,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 19,500 บาทโจทก์ที่ 5 และที่ 6 จำนวนคนละ 25,200 บาท จึงไม่ถูกต้องที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยาน โจทก์จำเลยและคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share