คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1932/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เบี้ยปรับคือสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร แต่ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีใจความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยมีระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยทั้งสองยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า นอกจากนั้นจำเลยทั้งสองยังได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินมีใจความว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยให้ถือบันทึกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินด้วย จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าในระยะเวลา 3 ปีแรก นับแต่วันที่ทำสัญญากู้ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่านั้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินและเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา 3 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า ซึ่งเมื่อพิจารณาบัญชีเงินกู้ จะเห็นว่า เมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี โจทก์ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี ตามลำดับ โดยมิได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ถือเป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี หลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา โจทก์จึงทำการปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 6 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมา และแม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมาดังกล่าว โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นอัตราตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน ถือได้ว่าโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญากู้เงินแต่อย่างใด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองตามบัญชีเงินกู้ จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 446,796.72 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 392,082.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 392,082.03 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2547 อัตราร้อยละ 7.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เบี้ยปรับคือ สัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร แต่ตามหนังสือสัญญากู้เงินข้อ 1 วรรคสอง มีใจความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยมีระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยทั้งสองยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า นอกจากนั้นจำเลยทั้งสองยังได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินมีใจความว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยให้ถือบันทึกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินด้วย จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่า ในระยะเวลา 3 ปีแรก นับแต่วันที่ทำสัญญากู้ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่านั้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้ และเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา 3 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นโดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า ซึ่งเมื่อพิจารณาบัญชีเงินกู้จะเห็นว่า เมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี โจทก์ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี ตามลำดับ โดยมิได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งก็ถือเป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้น ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี หลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม และในเวลาต่อมาปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ผิดนัดโดยไม่ชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนดเวลา โจทก์จึงทำการปรับอัตราดอกเบี้ยจากอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมา และแม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินข้อ 3 ระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดในข้อ 1 ได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมาดังกล่าวโจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นอัตราตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน ถือได้ว่าโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ 3 แต่อย่างใด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองตามบัญชีเงินกู้ จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ลงเหลืออัตราร้อยละ 7.25 ต่อปี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 420,822.55 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 392,082.03 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share